กสทฯ สนใจประมูลคลื่น 700 MHz เหตุการแข่งขันไม่สุงเท่า คลื่น 2600 MHz และต้องการคลื่นไปขยายการให้บริการ 4G รองรับหลังคลื่นในมือหมดอายุปี 2568 เตรียมเสนอกรอบการประมูลคลื่นต่อบอร์ดบริหาร สิ้นเดือน พ.ย.นี้ เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงดีอีเอสและครม.ต่อไป
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ ว่า มีความเป็นไปได้ที่ บริษัทจะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ เพราะเบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดจัดการประมูลในหลายย่านคลื่นความถี่พร้อมกัน เตรียมเสนอแนวทางที่บริษัทที่ปรึกษาได้ออกบทววิเคราะห์รูปแบบการประมูลต่อคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
สำหรับ การควบรวมกิจการมีความเห็นว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ทันการประมูลคลื่นความถี่ ที่ กสทช. กำหนดจัดขึ้นในเดือนก.พ.2563 เพราะหลังจาก ครม. มีมติให้ควบรวมกิจการระหว่าง กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที แล้ว ตามกฎหมายต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ในการดำเนินการ อาทิ การจัดการประชุมบอร์ด และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมผู้ถือหุ้น จากนั้นจึงสามารถควบรวมกิจการ จัดตั้งบอร์ดผู้บริหาร และสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่
ดังนั้นในอนาคตที่ต้องเกิดการควบรวมกิจการ ซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้าประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้หลังปี 2568 เมื่อคลื่นหมดอายุแล้วจะได้มีคลื่นความถี่สำหรับให้บริการต่อไป แต่เมื่อไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลคลื่นในนามเอ็นทีได้ทัน จึงต้องทำข้อตกลงกับทีโอที ในการเข้าประมูลคลื่นความถี่ในย่านที่ต่างกัน เพื่อให้อนาคตเอ็นทีมีหลายคลื่นความถี่ในการให้บริการ โดยกลุ่มคลื่นความถี่ที่ กสทช. จะนำออกประมูล ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 MHz ละ 26 GHz ซึ่งประเมินว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์คลื่นที่ (โอเปอเรเตอร์) ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz เป็นหลัก หาก กสทฯจะเข้าไปประมูลด้วยยิ่งทำให้ราคาแพงและโอเปอเรเตอร์อาจจะไม่มีคลื่นเพียงพอในการให้บริการ 5G
“คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เป็นคลื่นความถี่ที่ใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ที่แคทมีอยู่กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ทำให้ไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก” พ.อ.สรรพชัย กล่าว
ส่วนคลื่น 3500 MHz ที่กสทช.จะนำออกมาประมูลภายหลังนั้น กสทฯ กำลังอยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อหารูปแบบการทำธุรกิจเช่นกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ครั้งแรกบริษัทอาจจะเข้าร่วมการประมูล แต่ถ้าไม่ได้คลื่นความถี่ที่ต้องการ คงต้องเข้าร่วมการประมูลในครั้งที่สอง แต่ด้วยกรอบเวลาที่ค่อนข้างจำกัด อาจทำให้การเข้าประมูลคลื่นความถี่รอบ 2 ต้องตกขบวน 5G เพราะไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ได้ทันเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ช่วงปลายปี 2563 ดังนั้น จึงต้องศึกษารายละเอียดในทุกสถานการณ์เพื่อดูความเหมาะสม โดยต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะจึงจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน