xs
xsm
sm
md
lg

'พุทธิพงษ์' เตรียมเสนอครม.ควบรวม ทีโอที –กสท ภายในเดือนพ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'พุทธิพงษ์' เดินหน้าควบรวมทีโอที-กสท หลังถามสหภาพฯทั้ง 2 องค์กรหลายรอบจนแน่ใจ เดินหน้าเข้า ครม.ให้ทันภายในเดือนพ.ย. นี้ คาดกลางปีหน้ากระบวนการควบรวมเสร็จ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงความคืบหน้าการควบรวมกิจการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกัน 4 ฝ่าย คือ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที, กรรมการผู้จัดการใหญ่กสท โทรคมนาคม, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมนาคม ได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะสหภาพแรงงานมีความเข้าใจมากขึ้น

จากนี้จึงได้มอบหมายให้ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอสรวบรวมข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสอีกครั้ง เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเร็วที่สุดภายในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ยอมรับว่าสหภาพฯทีโอที ยังมีปัญหาอยู่บ้าง จึงต้องการสอบถามความเห็นให้แน่ชัดก่อน ขณะที่สหภาพฯกสท โทรคมนาคม ไม่มีปัญหา เพราะหลังจากนี้เมื่อนำเข้า ครม.แล้ว ตนจะได้ยืนยันได้ว่าทุกฝ่ายเห็นชอบด้วยกันทั้งหมดแล้วจริงๆ

สำหรับกระบวนการต่อไป เมื่อผ่านการเห็นชอบจาก ครม. แล้ว เชื่อว่ากระบวนการควบรวมกิจการจะรวดเร็วขึ้น โดยจะต้องมีการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ด้านบุคลากร 2.ด้านการเงิน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และ 3.ด้านสัญญาสัมปทาน เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินงานภายหลังการควบรวมกิจการ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6-7 เดือนจึงจะได้ข้อสรุป

ส่วนเรื่องการประมูลคลื่น 5G ยังคงยืนยันให้ทั้ง 2 องค์กรทำแผนการประมูลคลื่นมาเสนอโดยยึดหลักการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อลดต้นทุนในการลงทุน ไม่ควรต่างคนต่างคิด บนพื้นฐานที่อยู่กันคนละองค์กร เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทั้ง 2 องค์กรต้องกลายเป็นองค์กรเดียวกัน การทำ 5G ร่วมกันต้องลดต้นทุนได้มากกว่า 20% ไม่ควรต่างคนต่างลงทุน ต่างคนต่างว่าจ้าง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูง

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรณีที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม มีมติเห็นชอบเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 3400 - 3700 MHz ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กับกระทรวงดีอีเอส มาประมูลล่วงหน้า ก่อนหมดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 นั้น ทางกระทรวงดีอีเอส จะมีการหารือร่วมกับ กสทช. ในสัปดาห์หน้า ซึ่งหาก กสทช. ยังยืนยันที่จะนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวออกมาประมูล จะต้องดำเนินการใน 2 ส่วนคือ 1.การเยียวยาผู้ที่จะได้รับผลกระทบ และ 2.ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อไปใช้งานในคลื่นความถี่ย่าน 3700 - 4200 MHz ซึ่งเชื่อว่า จะอยู่ในงบประมาณที่สามารถดำเนินการได้


กำลังโหลดความคิดเห็น