xs
xsm
sm
md
lg

20 ขวบหัวเว่ยไทย “หมัดหนักกว่าเดิม” (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หัวเว่ย (Huawei) ก่อตั้งสำนักงานในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2542 ปีนี้จึงเป็นปีสำคัญที่ “หัวเว่ย ประเทศไทย” ครบรอบ 20 ขวบปีพอดี วันนี้หัวเว่ยการันตีว่าตัวเองมีบทบาทพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานไอซีทีไทยต่อเนื่องทั้งยุค 2G, 3G และ 4G ซึ่งในยุค 5G หัวเว่ยจะปล่อยหมัดหนักกว่าเดิมแน่นอน

เป้าหมายธุรกิจล่าสุดที่หัวเว่ยบอกกับสื่อมวลชนไม่ใช่การเพิ่มยอดขาย แต่หัวเว่ยมองการส่งเสริมและสนับสนุนประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นพันธกิจหลักของบริษัท ภารกิจสุดพระเอกนี้ทำให้หัวเว่ยประกาศว่าต้องการนำพาทั้ง ”อีโคซิสเต็ม” ให้เชื่อมประเทศไทยสู่อนาคตได้เป็นรูปธรรม

หัวเว่ยเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงภาพรวมการแข่งขันที่เกิดขึ้นในตลาดยุค 5G แต่ระบุว่า 20 ปีที่ผ่านมาหัวเว่ยมีความเข้าใจในตลาดไทยลึกซึ้ง ทำให้มั่นใจว่ากุญแจสำคัญที่จะนำศักยภาพมาสู่ไทยคือบุคลากรที่มีความสามารถ โอกาสที่หัวเว่ยเห็นจึงเป็นการปูพรมทำโครงการติดปีกบุคลากรไทยให้มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีล้ำสมัยมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเปิด “หัวเว่ย อะเคเดมี” อย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนนี้

ท้าทายที่งานบริการ

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์ถึงการครบรอบ 20 ปีบริษัท ว่าการลงทุนใหม่นับจากนี้ของหัวเว่ยจะยังเน้นเรื่องการสร้างประโยชน์ให้คนไทย โดยยอมรับว่าความท้าทายที่เกิดขึ้นตลอด 20 ปี และยังคงรอหัวเว่ยอยู่ต่อไปอีกนาน คือการบริการที่สามารถคิดเพื่อลูกค้า ทำเพื่อลูกค้าให้ดีที่สุด รวมถึงการพัฒนาทีมงานให้มีแรงขับเคลื่อน

“เราเป็น local company ที่อยู่ในประเทศไทย การลงทุนก็จะเน้นทำเพื่อคนไทย เราจะลงทุนด้าน ICT มากขึ้น ฝึกอบรมคนใหม่ๆผ่านการตั้งสถาบันหัวเว่ยอะเคเดมีเพื่อพัฒนาบุคลากร" อาเบลกล่าว "20 ปีที่ทำธุรกิจไทย และ 32 ปีที่หัวเว่ยก่อตั้งธุรกิจขึ้นมานั้นมีอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ความท้าทายคือการบริการ ที่จะคิดเพื่อลูกค้าและทำเพื่อลูกค้าให้ดีที่สุด รวมถึงการพัฒนาทีมงานให้มีแรงขับเคลื่อน ซึ่งเราจะยังยึดมั่นต่อไป"
อาเบล เติ้ง
น่าเสียดายที่หัวเว่ยไม่เปิดเผยมูลค่าการลงทุนในไทยที่ได้อัดฉีดไปแล้วช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารระบุเพียงว่าได้ก่อตั้งสำนักงานหลัก มีสถาบันจัดอบรม และในในปี 2560 ได้ก่อตั้ง Open Lab ร่วมกับการลงทุนมากมายเพื่อเชื่อมโยงลูกค้า และทำรายงานวิจัยตลาดสมาร์ทซิตี้ที่มีประโยชน์กับทุกฝ่ายในไทย สำหรับปี 2562 หัวเว่ยจะทุ่มงบประมาณสร้างศูนย์คลาวด์ดาต้าที่กรุงเทพมหานคร เพื่อตอบความต้องการรัฐบาลและประชาชนไทย

"ที่สำคัญ ปีนี้คือปีที่หัวเว่ยทำการทดสอบ 5G การลงทุนทั้งหมดนี้ถือว่าหัวเว่ยริเริ่ม และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้"

การให้น้ำหนักกับตลาดไทยเช่นนี้ หัวเว่ยไม่ได้มองว่าเป็นเพราะการเปิดประมูล 5G ไทยในปี 2563 แต่ผู้บริหารยอมรับว่า 5G มีความสำคัญ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น แต่สำคัญกับทุกประเทศ ทำให้หัวเว่ยมีการลงทุนมากมายเพื่อพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 5G ล่าสุดหัวเว่ยเซ็นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับ 5G เพิ่มเป็น 60 สัญญาแล้ว ซึ่งบริษัทจะมุ่งเน้นพัฒนา 5G ต่อไป

สำหรับธุรกิจคอนซูเมอร์ CEO หัวเว่ยประเทศไทยมองการแข่งขันและโอกาสในตลาดสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์ไอทีสำหรับผู้บริโภค ว่ายังมั่นใจในจุดเด่นของสินค้าหัวเว่ยที่จะทำให้ยังจำหน่ายได้ดีในตลาดไทย โดยยังมีแผนเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นต่อไปเพื่อทำตลาดปลายปี และไม่ลืมขอบคุณผู้บริโภคไทยที่มั่นใจในมือถือหัวเว่ย

สงครามการค้ายังรอลุ้น

สำหรับภาวะสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา ผู้บริหารหัวเว่ยประเทศไทยยอมรับว่าไม่สามารถให้ความเห็นเพิ่มเติมได้ แต่ย้ำว่าภาวะนี้ไม่กระทบกับยอดขายของหัวเว่ย เนื่องจากตัวเลขมีการพัฒนา โดยเติบโต 24.4% เทียบระหว่างไตรมาส ซึ่งไตรมาส 3 ปี 2562 หัวเว่ยทั่วโลกมียอดขาย 610,800 ล้านหยวน แปลว่าแม้ว่าจะมีแรงกดดันอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าหัวเว่ยจะมีอนาคตที่สดใส

ปีที่ 20 ของหัวเว่ยประเทศไทยนั้นเป็นปีที่หัวเว่ยทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการถูกขึ้นบัญชีอีแอลหรือ Entity List ของรัฐบาลสหรัฐฯตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นบัญชีที่ไม่อนุญาตให้บริษัทอเมริกันจำหน่ายสินค้า บริการ หรือเทคโนโลยีกับบริษัทที่อยู่ในรายการ EL นี้ หนึ่งในผลกระทบที่ทิ่มตำหัวเว่ยมากที่สุดคือตลาดคอนซูเมอร์ เพราะบริโภคกังวลกันมากว่าสมาร์ทโฟนหัวเว่ยอาจใช้บริการของกูเกิล (Google) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ไม่ได้ในอนาคต

ความหวั่นใจของผู้บริโภคทำให้บูธจำหน่ายสินค้าหัวเว่ยไทยหงอยเหงาในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ภาวะหงอยเหงานี้เกิดขึ้นทั่วโลกจนการสำรวจเบื้องต้นพบว่ายอดการส่งมอบสมาร์ทโฟนลดลงราว 30-60% แต่ตัวหัวเว่ยกลับปฏิเสธว่าไม่จริง จนกระทั่งมีสัญญาณว่าหัวเว่ยอาจดำเนินธุรกิจได้ผ่อนคลายขึ้น เมื่อมีการผ่อนปรนและยืดระยะเวลาเงื่อนไขออกไป

กรณีนี้ ผู้บริหารหัวเว่ยไทยชี้ว่าหัวเว่ยระดับโลกกำลังเจรจากับหน่วยงานสหรัฐฯอยู่ตลอด จึงอยากให้ทุกคนติดตาม คาดว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นเรื่องความชัดเจนของสินค้าคูนซูเมอร์หัวเว่ยในประเทศไทยต่อไป

สำหรับอาเบล เติ้ง นั้นเพิ่งรับตำแหน่งเป็น CEO คนใหม่ของหัวเว่ย ประเทศไทยเมื่อกันยายน 2562 ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เติ้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการเครือข่ายโทรคมนาคมของหัวเว่ย ประเทศไทย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2561 หลังจากเข้าทำงานกับหัวเว่ยในฐานะวิศวกร และได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการดูแลสัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำสำนักงานแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งดูแลกิจการของหลายประเทศในภูมิภาค อีกทั้งยังเคยทำงานที่สำนักงานใหญ่ ณ เมืองเซิ่นเจิ้น ในตำแหน่งผู้ช่วยประธานฝ่ายการจัดการภูมิภาค ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการเมืองที่มีภาวะความเป็นอยู่ไม่ปกติและประเทศขนาดเล็ก ตลอดจนดูแลจัดการบริษัทในเครืออีกหลายบริษัท

การมาของเติ้งเกิดขึ้นท่ามกลางข่าวร่ำลือว่าหัวเว่ยประเทศไทยเปลี่ยนตัว CEO บ่อยครั้ง โดยก่อนหน้านี้ "เฉียง หัว" ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของหัวเว่ย ประเทศไทยเมื่อปี 2560 ยังมีประเด็นจำนวนพนักงานที่เข้าออกเป็นว่าเล่น สถิติปัจจุบันของพนักงานหัวเว่ยประเทศไทยคือ 3,200 คน ในจำนวนนี้ 75% เป็นคนไทย.



กำลังโหลดความคิดเห็น