ETDA ประกาศผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 พบคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานขึ้นเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เผย Gen Y ครองแชมป์ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 โดยเฉพาะการใช้ Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip สูงถึง 3 ชม. 30 นาทีต่อวัน ห่วงความปลอดภัยการใช้งานอินเทอร์เน็ต หลังพบผู้ใช้ไม่ยอมเปลี่ยนรหัสผ่านทุก 3 เดือน การให้วันเดือนปีเกิดที่แท้จริงผ่านสื่อออนไลน์ เตรียมจัดตั้ง Digital Asia Hub Thailand หวังสร้างความร่วมมือ เชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และสังคมของเครือข่ายในระดับภูมิภาค และระดับโลก
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 ในงาน ETDA สู่ปีที่ 8 Future Economy and Internet Governance: Big Change to Big Chance พบว่า พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยนานขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน โดย Gen Y เป็นแชมป์การใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดติดกันเป็นปีที่ 4 เป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น
พร้อมกันนี้ คนไทยยังนิยมใช้โซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip สูงมากถึง 3 ชม. 30 นาทีต่อวัน ขณะที่การรับชมวิดีโอสตรีมมิ่ง เช่น YouTube หรือ Line TV มีชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม. 35 นาทีต่อวัน ส่วนการใช้แอปพลิเคชันเพื่อพูดคุย เช่น Messenger และ LINE เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม. ต่อวัน การเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม. 51 นาทีต่อวัน และการอ่านบทความ หรือหนังสือทางออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม. 31 นาทีต่อวัน
เมื่อดูการเปลี่ยนผ่านการใช้ชีวิตประจำวันไปสู่ชีวิตดิจิทัล จะเห็นได้ว่า 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมทางออนไลน์มากกว่าแบบดั้งเดิม ได้แก่ การส่งข้อความ 94.5% การจองโรงแรม 89.2% การจอง/ซื้อตั๋วโดยสาร 87.0% การชำระค่าสินค้าและบริการ 82.8% และการดูหนัง/ฟังเพลง 78.5% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่ามีหลากหลายกิจกรรมที่คนไทยยังมีความสุ่มเสี่ยงในการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลจากพฤติกรรมดังนี้ 1. ไม่เปลี่ยนรหัสผ่านทุกๆ 3 เดือน 45.34%, 2. การให้วันเดือนปีเกิดที่แท้จริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 45.04%, 3. เมื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคารก็ละเลยที่จะสังเกตว่าเป็นเว็บไซต์ที่ขึ้นต้นด้วย https:// หรือไม่ 44.48%, 4. เปิดอีเมล/คลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก 43.36% และ 5. อัปโหลดรูปถ่าย/วิดีโอทันทีหลังถ่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 35.70%
สำหรับกลุ่ม Baby Boomer เป็นกลุ่มที่น่ากังวลมากที่สุด เช่น เมื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคารก็จะละเลยที่จะสังเกตว่าเป็นเว็บไซต์ที่ขึ้นต้นด้วย https:// หรือไม่ 55.94% และเมื่อสิ้นสุดการใช้งานคอมพิวเตอร์สาธารณะ/อุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้อื่นก็ไม่ลบประวัติการใช้งาน 46.96% หรือไม่ลงชื่อออกจากการใช้งานจากเครื่องดังกล่าว 26.14% รวมถึงการที่ไม่ได้ล็อกหน้าจออัตโนมัติ 29.71%
ขณะที่ Gen Z จะมีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องของการให้วันเดือนปีเกิดที่แท้จริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 55.97% การไม่เปลี่ยนรหัสผ่านทุกๆ 3 เดือน 53.73% หรือเปิดอีเมล/คลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก 51.49% รวมทั้งเมื่อใช้งานคอมพิวเตอร์สาธารณะ/อุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้อื่นมักตั้งค่าให้อุปกรณ์ดังกล่าวจดจำรหัสผ่าน เพื่อจะได้ไม่ต้องพิมพ์ใหม่ทุกครั้ง 28.36% และคลิกลิงก์ของธนาคารที่ได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์ของธนาคารโดยตรง 16.42%
ส่วน Gen Y มักจะชอบทำกิจกรรมเสี่ยงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ เช่น การอัปโหลดรูปถ่าย/วิดีโอทันทีหลังถ่าย 37.90% รวมทั้งการอัปโหลดภาพตั๋วเครื่องบิน/Boarding pass ก่อนการเดินทาง 33.77% และการแชร์ตำแหน่ง (Location) แบบ Real time 13.57% ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นการสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับเจ้าของข้อมูล ดังนั้น จึงควรตั้งค่าดังกล่าวเป็นส่วนตัว เปิดให้เฉพาะเพื่อน หรือญาติพี่น้อง หรือคนที่ไว้ใจได้เท่านั้น
*** จัดตั้ง Digital Asia Hub Thailand
ภายหลังการแถลงผลสำรวจ ETDA ยังได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง ETDA กับ Digital Asia Hub Hong Kong ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในรูปแบบขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งโดยศูนย์เบิร์กแมนไคลน์เพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคมแห่งโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด (The Berkman Klein Center for Internet & Society, Harvard Law of School) เพื่อร่วมกันจัดตั้ง The Digital Asia Hub Thailand หรือ DAH.th เพื่อสร้างเครือข่ายและการทำงานร่วมกันในประเด็นทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเปิดกว้างสำหรับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยร่วมกันพัฒนาศักยภาพ เผยแพร่ความรู้ และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศาสตราจารย์ ดร. อูร์ส แกสเซอร์ (Prof. Dr. Urs Gasser) ผู้อำนวยการศูนย์เบิร์กแมนไคลน์ฯ กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดตั้ง Digital Asia Hub Thailand ว่าเป็นความร่วมมือเพื่อเดินหน้าสู่ Digital Transformation ในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะใช้เป็นเวทีสำหรับการสร้างความร่วมมือ และการทำงานร่วมกันในมิติต่างๆ รวมทั้งเปิดกว้างสำหรับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในเชิง Digital Technology เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อแบ่งปันความรู้และการศึกษาวิจัย รวมถึงการแปลงผลการศึกษาวิจัยไปสู่ทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสนับสนุน การทำงานในระดับผู้กำหนดนโยบาย และกลุ่มประชาสังคม
Digital Asia Hub Thailand จะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงทางด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสังคมของเครือข่ายในระดับภูมิภาค และระดับโลก รวมถึง Digital Asia Hub ในฮ่องกง และ Berkman Klein Centre ที่ Harvard Law School ในรูปแบบของเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในด้านของผู้เชี่ยวชาญ การวิจัย และการอบรมบุคลากร
สำหรับการดำเนินกิจกรรมของ Digital Asia Hub Thailand ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. การทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ (Multi-Stakeholder Collaboration) ทั้งระดับภูมิภาค และนานาชาติ ซึ่งมีทั้งภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาล ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในประเด็นด้าน Digital Transformation 2. หลักสูตรการศึกษาโดยจัดกิจกรรมการศึกษา และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ที่มุ่งให้ข้อมูลแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในภาคเอกชน และภาครัฐ เกี่ยวกับประเด็น Digital Transformation กฎหมาย และทางสังคม รวมถึงการจัดโครงการฝึกงานหรือโครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นในกลุ่มความร่วมมือ 3. การสนับสนุนด้านการวิจัย ซึ่ง Digital Asia Hub Thailand จะมีส่วนร่วมในการวิจัยที่มุ่งเน้นประเด็นการปรับใช้หลักการของ GDPR, Cybersecurity Analytic กับการพัฒนาขีดความสามารถ และประเด็นเทคโนโลยีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือสู่ความพร้อมของธุรกิจไทยในเรื่อง GDPR ของ 13 สมาคม ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมการค้าดิจิทัลไทย, สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย), สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมไทยบล็อกเชน, สมาคมประกันชีวิตไทย, สมาคมประกันวินาศภัยไทย, สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย, สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย, สมาคมฟินเทคประเทศไทย และสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ