xs
xsm
sm
md
lg

“กูเกิล” หยอดคำหวานรัฐบาล ร่วมผลักดันไทยแลนด์ 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส (ซ้าย) กับเบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย
“ไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง” คือ คอนเซ็ปต์หลักของการที่กูเกิล ยักษ์ใหญ่ไอทีอันดับหนึ่งของโลกให้สัญญากับรัฐบาลไทย ในการช่วยผลักดันเทคโนโลยีให้เข้าถึงคนไทยทุกคน เพื่อช่วยยกระดับชีวิต เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้โครงการ Google for Thailand

ที่ผ่านมา กูเกิลเคยดำเนินโครงการในลักษณะความร่วมมือของกูเกิล กับภาครัฐของแต่ละประเทศมาก่อนแล้ว เริ่มจากอินเดีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก ก่อนมาถึงประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไทยต่อกูเกิล เมื่อเทียบกับตลาดระดับโลก

เบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย อธิบายรายละเอียดของโครงการ Google for Thailand ในช่วงเริ่มต้นว่าจะครอบคลุมใน 4 พันธกิจหลัก คือ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี, การส่งเสริมด้านการศึกษา, การพัฒนาเนื้อหาและบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน และสุดท้าย คือ การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs)

“ประเด็นสำคัญของโครงการนี้ คือ ต้องการทำให้มั่นใจว่าคนไทยทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น”
เบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย อธิบายรายละเอียดของโครงการ Google for Thailand
ในต่างประเทศมีการศึกษามาตลอดว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต (Internet Penetration) ทุกๆ 10% มีโอกาสช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เติบโตได้ถึง 1.2%

ดังนั้น การที่ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากประชากรไม่ถึง 50 ล้านคน ผ่านการเชื่อมต่อทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบมีสาย และไร้สาย ร่วมกับการดำเนินโครงการต่างๆของภาครัฐ จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชนได้

ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้ประชากรทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจของโครงการ Next Billion Users ที่กูเกิล ประกาศไว้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวด้วย

***ภาครัฐ เห็นชอบ “ดิจิทัล ช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียม”

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่ชัดเจนของภาครัฐ ที่ต้องเตรียมการเพื่อคนในอนาคต ที่สำคัญคือต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เพราะดิจิทัลทำให้เรามีโอกาสเท่าเทียมกัน

“เทคโนโลยีจะช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพียงแค่มีดิจิทัลเข้ามาเสริมในชีวิตประจำวัน ดิจิทัล สามารถเข้ามาตอบโจทย์ 6 ยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งเป็นแผนที่วางไว้สำหรับประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า”

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ทั้ง 6 เรื่องประกอบไปด้วย 1. ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมสังคม 5. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับปรุงสมดุล และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวต่อว่า ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ ดิจิทัล ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เรามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศ มีโครงการพัฒนาความรู้ให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันดิจิทัล มีโครงการสมาร์ท ซิตี้ อีอีซี และพัฒนาส่งเสริม IoT ซึ่งจะใช้ศูนย์ ดิจิทัล พาร์ค ที่ศรีราชา เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตีด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็นั่งเป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

“2 ปีที่ผ่านมา ดีอีทำงานกับกูเกิลมาแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาทักษะและพลเมืองดิจิทัล และโครงการพัฒนาหลักสูตรการเขียนโปรแกรม หรือ ที่เรียกว่า โคดดิ้ง ไทยแลนด์เพื่อให้เด็กไทยเขียนโปรแกรมได้”

โดย 2 โครงการดังกล่าวถือว่าเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนของแกนที่ 2 ของกูเกิล ในการเข้ามาช่วยส่งเสริมการศึกษา และพัฒนาความรู้ทางด้านดิจิทัลเพื่อให้คนไทยเท่าทันเทคโนโลยีมากขึ้น

***นำเทคโนโลยีให้คนไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

อันจาลี โจชิ รองประธานฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ Next Billion Users กูเกิล กล่าวว่า กูเกิลรู้ดีว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีก 1 พันล้านคนต่อไป จะไม่ได้มาจากประเทศอย่างสหรัฐฯ แต่จะมาจากไทย อินโดนีเซีย หรืออินเดีย ที่ซึ่งยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ ทั้งในแง่ของการเข้าถึง และอุปกรณ์ที่ใช้งาน
อันจาลี โจชิ รองประธานฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ Next Billion Users กูเกิล
ในปีที่ผ่านมา กูเกิล ได้มีการเพิ่มระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เวอร์ชันพิเศษ (Android Go) ขึ้นมา เพื่อช่วยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนประสิทธิภาพสูงในระดับราคาต่ำกว่า 3,000 บาท เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเริ่มมีแบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนนำเข้ามาทำตลาดในไทยบ้างแล้ว

ถัดมา คือ เรื่องของการเข้าถึงคอนเทนต์ อย่างในประเทศไทยที่บริการอย่างยูทูป ได้รับความนิยมสูงมาก การเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดวิดีโอมารับชมแบบออฟไลน์ของ YouTube Go ถือเป็นอีกบริการที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการเข้าถึงคอนเทนต์

มาจนถึงความร่วมมือล่าสุดระหว่าง กูเกิล กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม และยูนิลิเวอร์ ในการให้บริการไวไฟสาธรณะความเร็วสูง (Google Station) ที่เริ่มให้บริการแล้วในพื้นที่ต่างๆ 10 แห่ง ก่อนขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มในไม่กี่เดือนข้างหน้า ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ 4 ถัดจากอินเดีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก ที่ให้บริการ Google Station ในประเทศไทย และเป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

***จับมือภาคเอกชน สร้างพื้นที่การเรียนรู้-เข้าถึงคอนเทนต์

ไม่ใช่แค่การจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ แต่กูเกิล ยังมีการจับมือกับเอกชน ในการผลักดันทักษะดิจิทัล ด้วยการเข้าไปร่วมกับทรู ดิจิทัล พาร์ค ในการสร้างพื้นที่ฝึกอบรม (Academy Bangkok A Google Space) ขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมผู้เข้าร่วมโครงการ Google Ignite ที่เป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัปของกูเกิล

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนที่ใช้สถานที่ดังกล่าวเป็น สถานที่ฝึกอบรมโครงการอื่นๆ อย่างทักษะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยเมื่อเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ จะรองรับผู้เข้าฝึกอบรมได้ถึง 150-200 คนในแต่ละครั้ง เช่นเดียวกับการผลักดันการใช้งานยูทูป ให้เพิ่มขึ้นจากที่ปัจจุบัน ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีการใช้งานยูทูปมากที่สุด จากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยที่มีอยู่ราว 42 กว่าล้านคน แต่มีการอัปโหลดวิดีโอขึ้นบนยูทูปถึง 2 ล้านชั่วโมงในปีที่ผ่านมา

ในปีนี้ ยูทูปจะกลับมาเปิดให้บริการ Pop Up Space อีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อช่วยฝึกอบรม ให้ความรู้แก่บรรดาครีเอเตอร์ พร้อมสนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์สะท้อนสังคมใน 3 หัวข้อ คือ การมีอคติโดยไม่รู้ตัว การเกลียดชังในสังคม และเช็กก่อนชัวร์

พร้อมร่วมมือกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ในการนำเสนอแพกเกจการใช้งานยูทูปแบบไม่จำกัด สำหรับผู้ใช้ YouTube Go ในราคา 9 บาทต่อวัน หรือ 59 บาทต่อเดือน เพื่อให้สามารถรับชมคอนเทนต์บนยูทูปได้ต่อเนื่อง แม้จะมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือไม่ก็ตาม

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมกับกูเกิล ทลายข้อจำกัด ลดช่องว่าง และทำให้การเข้าถึงคอนเทนต์จากทั่วโลกของคนไทยทุกกลุ่มในประเทศไทยเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน โดยร่วมมือกับกูเกิลเปิดตัวแอปพลิเคชัน YouTube GO โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่เริ่มใช้งานดาต้าผ่านสมาร์ทโฟนรุ่นประหยัดที่กำลังขยายตัวอย่างมากในต่างจังหวัด และพื้นที่ห่างไกล ได้สัมผัสประสบการณ์ เรียนรู้โลกกว้าง และกระตุ้นแรงบันดาลใจจากคอนเทนต์จำนวนมหาศาลที่ถูกสร้างสรรค์จากกลุ่มคนทั่วโลกในทุกๆ วินาที

“เอไอเอส ได้เริ่มเปิดตัวแพกเกจราคาประหยัดที่ตอบสนอง feature ของ YouTube GO ให้ลูกค้าเอไอเอสได้เลือกใช้ เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

***ผลักดัน “ธุรกิจ” ให้มีตัวคนบนโลกออนไลน์
ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย
ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่ผ่านมา ผู้บริโภคจำนวนมากใช้กูเกิลในการค้นหาร้านค้า หรือบริการที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด โดยจากกูเกิลเทรนด์พบว่า คนไทยค้นหาคำว่า “ร้าน” เพิ่มขึ้น 2 เท่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และคำว่า “ใกล้ฉัน” มีการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าภายใน 1 ปี

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กูเกิล มีการนำเสนอเครื่องมือดิจิทัลอย่าง Google My Business (GMB) ให้ SMEs สามารถเข้าถึงได้ง่าย และเพื่อช่วยให้ธุรกิจปรากฏขึ้นมาบนกูเกิล เสิร์ช และกูเกิล แมปส์ ได้รับข้อมูลความคิดเห็นจากลูกค้า และปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยให้ SMEs ได้ประโยชน์จากการใช้งาน GMB กูเกิล จึงได้ร่วมกับทางธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการสมัครใช้งาน GMB ให้สะดวกขึ้นผ่านทางเจ้าหน้าที่ของธนาคาร จากเดิมที่ทางกูเกิลใช้วิธีการตรวจสอบอย่างการส่งไปรษณีย์เพื่อยืนยันที่อยู่ว่ามีการดำเนินธุรกิจจริง

“การร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ SMEs ในกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับเครื่องมือดิจิทัลได้ประโยชน์จากออนไลน์ได้ง่าย และเร็วยิ่งขึ้น”

เบน กล่าวสรุปว่า ความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกูเกิล ในการทำงานร่วมกับทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการสนับสนุนอีโคซิสเตมส์ ที่จะทำให้เกิดไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการสนับสนุนดิจิทัล อีโคโนมี

“กูเกิลให้สัญญาว่าจะเดินหน้าพัฒนาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้คนไทยทั่วประเทศ รวมถึงการสนับสนุนในการเพิ่มทักษะทางดิจิทัล ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย ไปจนถึงการร่วมมือกับเหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์บนยูทูป เพื่อสร้างคอนเทนต์ระดับโลก สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ากูเกิลทำทุกอย่างนี้คนเดียว แต่ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้การทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลเกิดขึ้นในประเทศไทย”









กำลังโหลดความคิดเห็น