“เอชพี” ยุคใหม่ หันโฟกัสลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ทั้งในส่วนของธุรกิจคอมพิวติ้ง และธุรกิจพรินติ้ง หลังใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี ในการแยกธุรกิจเน็ตเวิร์ก และโซลูชันออกไป มองปัจจัยบวกจากดิจิทัลทรานฟอร์เมชันช่วยให้อุตสาหกรรมไอทีเติบโต
นายปวิณ วรพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทยว่า ถือเป็นช่วงที่ตลาดไอทีกลับมาเติบโตอีกครั้ง จากทั้งนโยบายของภาครัฐที่เร่งผลักดันไทยแลนด์ 4.0 และองค์กรธุรกิจหลายแห่งก็ให้ความสำคัญกับการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน
“ทิศทางของเอชพี จะเน้นการโฟกัสลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยจะผันบริษัทให้กลายเป็นผู้ให้บริการไอทีโซลูชันครบวงจร ด้วยการเข้าไปช่วยองค์กรธุรกิจบริหารจัดการพีซี และเครื่องพิมพ์ รวมถึงร่วมกับพันธมิตรในการนำโซลูชันเข้าไปให้บริการ”
ขณะที่ในกลุ่มของคอนซูเมอร์ ทางเอชพี ได้เริ่มหันมาจับกลุ่มลูกค้าในระดับพรีเมียมมากขึ้น เพราะจากเทรนด์ของผู้บริโภคกลายเป็นว่า ในการเลือกซื้อโน้ตบุ๊กใช้งานจะให้ความสำคัญกับรูปแบบการใช้งานมากขึ้น ไม่ได้เน้นราคาถูกเหมือนในยุคก่อนหน้านี้
ปัจจุบัน เอชพีจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจผ่าน 3 ส่วนหลักๆ คือ ในส่วนของธุรกิจหลัก (Core) ที่มีผลิตภัณฑ์หลักอย่างพีซี เพราะจากเทรนด์ของการที่องค์กรธุรกิจขยับไปดิจิทัล ต้องมีการเก็บข้อมูลต่างๆมาประมวลผล ทำให้สุดท้ายก็ต้องใช้พลังของคอมพิวเตอร์มาช่วย
ในส่วนของธุรกิจเครื่องพิมพ์ ด้วยความที่ประเทศไทยยังมีการใช้งานกระดาษอยู่ ไม่ได้มุ่งไปดิจิทัลทั้งหมด ก็ทำให้ยอดขายของธุรกิจเครื่องพิมพ์ โดยเฉพาะในกลุ่มเฮลท์แคร์ และภาคการศึกษา ยังเติบโตอยู่ต่อเนื่อง
ถัดมา คือ ในส่วนของธุรกิจที่เติบโต (Growth) ในกลุ่มของพีซี ก็จะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์โน้ตบุ๊ก ที่เข้ามาเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางมากขึ้น ทั้งในระดับพรีเมียม เกมเมอร์ เครื่องบางเบา และผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของ 2-1 ส่วนของธุรกิจเครื่องพิมพ์ ก็มีการออกไลน์สินค้าใหม่อย่างเครื่องพิมพ์ขนาดพกพาที่เข้ามาเปิดตลาดใหม่ และได้รับความนิยม
สุดท้าย คือ ธุรกิจอนาคต (Future) อย่างการนำเสนอพีซี ในรูปแบบใหม่ ที่เริ่มนำเข้ามาทำตลาดแล้ว (HP Elite Slice) ที่เป็นคอมฯ สำหรับใช้ในห้องประชุมโดยเฉพาะ หรือกลุ่มพีซีขนาดเล็ก ไว้ใช้งานภายในสำนักงาน ส่วนธุรกิจเครื่องพิมพ์ ก็จะมีเครื่องพิมพ์ และเครื่องสแกน 3 มิติ เข้ามาด้วย
***แนวโน้มโมเดล “เช่าใช้” เติบโต
นายปวิณ ยังเผยให้เห็นรูปแบบการจำหน่ายพีซีในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาว่า องค์กรธุรกิจเริ่มให้ความสนใจกับการเช่าซื้อ เช่าใข้มากขึ้น โดยเริ่มมาจากก่อนหน้านี้ที่ในธุรกิจเครื่องพิมพ์ นำโมเดลดังกล่าวมาใช้ไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายได้
พอมาเป็นในธุรกิจพีซี การนำโมเดล Device as a Service เข้ามาทำตลาด จึงช่วยตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ที่ผู้บริหารต้องโฟกัสกับการแข่งขัน และปล่อยให้แบรนด์เข้ามาดูแลการใช้งานแทน ซึ่งแนวโน้มตรงนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“การที่องค์กรเปลี่ยนจากซื้อเครื่องมาเป็นเช่าใช้จะทำให้องค์กรสามารถวางแผนในการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ตามไลฟ์ไซเคิลของอุปกรณ์พีซี และยังช่วยอำนวยความสะดวกในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนเครื่อง ย้ายเครื่อง ก็จะมีทีมงานคอยเข้าไปซัปพอร์ต เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้”
เพียงแต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การที่จะมีทีมงานเข้าไปทำงานเข้าใจกับรูปแบบการใช้งานของแต่ละองค์กรธุรกิจ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการใช้งานจากอุปกรณ์เดิมมาเป็นอุปกรณ์ใหม่ ซึ่งทางเอชพี มีทีมงานที่ดูแลในส่วนนี้โดยเฉพาะ และกลายเป็นจุดแข็งของเอชพี ในตลาดองค์กร