อาจเป็นเพราะข่าวปลอม นักเลงคีย์บอร์ด และความไม่ส่วนตัว ทำให้วันนี้ชาวโซเชียลหันหลังให้ข่าวบนเฟซบุ๊ก (Facebook) การสำรวจล่าสุดพบผู้ใช้เฟซบุ๊กค้นหาและพูดคุยเกี่ยวกับข่าวนั้นมีจำนวนลดลง ขณะที่แอปพลิเคชันรับส่งข้อความอย่างว็อตสแอป (WhatsApp) กลับได้รับความนิยมจากคอข่าวมากขึ้นชัดเจน
รายงานข่าวดิจิทัลประจำปีครั้งที่ 7 หรือ Digital News Report วิเคราะห์ว่า ภาวะขาลงของจำนวนผู้อ่านข่าวสารใน Facebook แสดงให้เห็นว่า วันนี้ชาว Facebook กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว และอารมณ์ดราม่าจากการอภิปรายที่ไม่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงอัลกอริธึมของ Facebook ซึ่งมีผลต่อการจัดลำดับความสำคัญข่าวในฟีด ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะนี้
*** บางประเทศ WhatsApp แรง
การวิจัยนี้จัดทำขึ้นโดยสถาบันสำหรับการศึกษาวารสารศาสตร์ Reuters Institute for the Study of Journalism แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดยสำรวจผ่านระบบออนไลน์ของ YouGov บนกลุ่มตัวอย่าง 74,000 คนใน 37 ประเทศ ดังนั้นภาวะกลุ่มคนอ่านข่าวผ่าน Facebook น้อยลงอาจยังไม่เห็นชัดในประเทศไทย
การสำรวจพบว่า ชาวโซเชียลกลุ่มวัยรุ่น มีแนวโน้มใช้ WhatsApp, อินสตาแกรม (Instagram) และสแนปแซต (Snapchat) เพื่ออ่านข่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคอข่าวอยากพูดคุยในที่ส่วนตัวมากขึ้น
ที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่เปิดข่าวผ่านทาง WhatsApp เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 4 ปี คิดเป็นสัดส่วนรวม 15% คาดว่า กลุ่มผู้อ่านข่าวผ่าน WhatsApp จะเพิ่มมากกว่าค่าเฉลี่ยในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย และตุรกี ซึ่งผู้ใช้อาจรู้สึกว่าอันตรายเกินไปที่จะแสดงความคิดเห็นหรือมุมมองของตัวเอง บนเครือข่ายที่เปิดกว้างมากอย่าง Facebook
นิค นิวแมน (Nic Newman) ผู้เขียนรายงานวิจัยชิ้นนี้ย้ำว่า ชาวโซเชียลกำลังเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทำให้แอปพลิเคชันรับส่งข้อความถูกใช้เป็นเครื่องมือแบ่งปัน และพูดคุยเกี่ยวกับข่าว
แม้ว่าวิธีนี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถควบคุมสถานที่ และวิธีที่จะมีส่วนร่วมกับข่าวได้มากขึ้น แต่ปัญหา คือ การอภิปรายและการกระจายข่าวอาจจะกระจัดกระจาย และไม่โปร่งใสมากขึ้น
*** อเมริกันหดชัดเจน
การใช้ Facebook เพื่ออ่านข่าวนั้นลดลงในหลายประเทศ ตัวอย่างชัดเจน คือ ในสหรัฐฯ ที่การเสพข่าวลดลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2017 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับข่าวปลอมบน Facebook (54%) ขณะที่ความเชื่อมั่นในข่าวโดยรวมอยู่ที่ 44%
อย่างไรก็ตาม มีเพียง 34% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้น ที่ยอมรับว่าเชื่อถือข่าวที่พบผ่านการค้นหาบนเสิร์ชเอนจิน และน้อยกว่า 1 ใน 4 (23%) ที่เชื่อถือข่าวบนเครือข่ายสังคม