โกเจ็ก (Go-Jek) คือบริการแอปพลิเคชันเรียกรถร่วมเดินทาง หรือ ride-hailing ประเภทเดียวกับแกร็บ (Grab) และอูเบอร์ (Uber) สิ่งที่ทำให้คนไทยตื่นเต้นกันมาก คือ Go-Jek ประกาศว่าจะบุกหนัก 4 ตลาดใหม่ เวียดนาม-ไทย-สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ บนงบลงุทนหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เตรียมไว้แล้ว
ประเด็นที่คนไทยควรรู้ คือ Go-Jek ไม่ใช่บริษัทธรรมดา เพราะ Go-Jek เป็นบริษัทดาวรุ่งที่มีหลายกลุ่มทุนอัดฉีดให้เต็มไม้เต็มมือ เชื่อว่างานนี้ Grab กำลังมีคู่แข่งที่น่ากลัว ทำให้การครองตลาดไทยอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด
***จัดเต็ม 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
Go-Jek เป็นบริษัทสัญชาติอินโดนีเซีย ล่าสุด Go-Jek เพิ่งแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดี 24 พ.ค. ว่าจะเข้าสู่ตลาดเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ในช่วงปีนี้ และเม็ดเงินลงทุนในโครงการขยายธุรกิจระหว่างประเทศถูกจัดเตรียมไว้ จำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 16,018 ล้านบาท
การย้ายเข้าสู่ 4 ตลาดใหม่ Go-Jek ระบุว่า จะเริ่มต้นด้วยการให้บริการร่วมเดินทาง แต่ Go-Jek ก็หวังหยิบบริการอื่นที่ประสบความสำเร็จในอินโดนีเซีย มาให้บริการในตลาดใหม่
ความสำเร็จของ Go-Jek เห็นได้ชัดจากการเป็นสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์น (มูลค่าตลาดเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) รายแรกและรายเดียวของแดนอิเหนา ผู้ก่อตั้ง Go-Jek คือ นาเดียม มาคาริม (Nadiem Makarim) ผู้ต้องการแก้ปัญหารถติดในจาการ์ตา และก่อตั้งธุรกิจขึ้นในปี 2010
ข้อมูลระบุว่า Go-Jek เริ่มต้นจากการเป็นบริการ call center ให้บริการมอเตอร์ไซล์รับจ้าง จากบริการที่มีฐานผู้รับจ้างขับเพียง 20 คนและเน้นให้บริการเพื่อนฝูง สมาชิกในครอบครัว และคนรู้จักเท่านั้น Go-Jek พัฒนามาเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานสะดวกบนราคาสมเหตุสมผล เพียง 7 ปี Go-Jek ขยายธุรกิจไปยัง 25 เมืองใหญ่ในอินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อกลางปีที่แล้ว Go-Jek ยืนยันว่ายังไม่มีแผนให้บริการในพื้นที่นอกอินโดนีเซีย
แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป นักลงทุนเชื่อว่า Go-Jek มีพร้อม เพราะขยับขยายไปให้บริการแท็กซี่ บริการชอปปิ้ง บริการส่งของ (เอกสาร อาหาร และอื่นๆ) บริการทำความสะอาดบ้าน แม้แต่บริการนวดแบบส่งตรงถึงบ้าน ล่าสุด คือ บริการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนว่า Go-Jek มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับ Grab ได้สบายในวันที่ไร้ Uber
*** อาเซียนตลาดใหญ่มาก
ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Go-Jek ยืนยันว่า ตลาดบริการแอปพลิเคชันรถร่วมเดินทางของประเทศไทย และอีก 3 ประเทศใหญ่อาเซียน ยังมีช่องว่างสำหรับผู้เล่นใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภครู้สึกว่ามีตัวเลือกน้อยเกินไป
ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเมื่อ Uber ขายกิจการในอาเซียนให้กับคู่แข่งอย่าง Grab ทันทีที่ Uber หายไป คนไทย และหลายคนในอาเซียน รู้สึกว่า วงการแอปพลิเคชันร่วมเดินทางกำลังขาดการแข่งขันเท่าที่ควร
สิ่งที่ Go-Jek มองนั้น ตรงกับผลสำรวจของกูเกิล (Google) และเทมาเสก (Temasek) ที่ประเมินแล้วว่า ตลาดบริการแอปพลิเคชันรถร่วมเดินทาง จะเป็นส่วนหนึ่งในแรงผลักดันให้เศรษฐกิจออนไลน์ของภูมิภาคเติบโตเป็น 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือปี 2025 โดยนอกจากบริการรถร่วมเดินทาง จะมีบริการด้านท่องเที่ยว สื่อ และอีคอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักดันหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.