แกร็บ (Grab) ยันอนาคตสดใสหลังควบรวมอูเบอร์ (Uber) เร่งขอไลเซนส์แบงก์ชาติให้บริการอีวอลเล็ต ระบุหากวอลเล็ตมาแล้ว อย่างอื่นจะตามมา โดยเฉพาะบริการนาโนไฟแนน ในรูปเงินกู้สำหรับคนขับ
ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บ แท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงธุรกิจแกร็บหลังการควบรวมกิจการกับอูเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ผลกระทบจากการควบรวมในตลาดไทยถือว่าน้อยมาก โดยราคาค่าบริการหลังจากนี้จะไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ลูกค้าสามารถเรียกรถง่ายขึ้นเพราะจำนวนผู้ขับแกร็บมากขึ้น
“แท็กซี่ไทยวันนี้ 9 หมื่นคัน คาดว่าอย่างน้อย 20% มาขับแกร็บ” ธรินทร์ ระบุ “วันนี้แกร็บขอไลเซนส์แบงก์ชาติ ทำอีวอลเล็ตอยู่ ไทยเพิ่งเปลี่ยนกฎหมายเมื่อ 1 เมษายน อาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือน บริการ Grab pay ก็ยังอยู่ในกระบวนการ ไม่พ้น 1 ปี ผมคิดว่า แกร็บน่าจะให้บริการเงินกู้คนขับได้”
ธรินทร์ อธิบายว่า บริการชำระเงินบนแกร็บยังไม่ใช่วอลเล็ต และยังใช้จ่ายซื้อสินค้ากับธุรกิจอื่นไม่ได้ ตอนนี้ แกร็บจึงต้องขอใบอนุญาตให้บริการวอลเล็ตเกิดขึ้น ก่อนที่บริการอื่นจะตามมา
“ที่เราต้องการทำมากที่สุด คือ วันนี้คนขับมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ การไม่มีหลักฐานเงินเดือนทำให้ธนาคารปฏิเสธ แต่แกร็บ จะมีข้อมูลการขับ มีข้อมูลรายได้ เราจึงกำลังเตรียมเปิดบริการเงินกู้ให้กับผู้ขับของเรา โดยที่ไม่ต้องส่งหลักฐานเพิ่มเติม เรียกว่า คนที่ไม่สามารถใช้บริการธนาคารได้ จะสามารถเข้าถึงบริการของเราได้ในอนาคต”
แผนพัฒนาบริการนาโนไฟแนนซ์ฯ ของแกร็บนี้ ถือเป็นการขยายขอบเขตจากการเป็นแอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อเดินทาง จากนี้ แกร็บจะเป็นแอปพลิเคชันเติมเต็มที่เชื่อมการใช้จ่าย การเดินทาง คาดว่าแกร็บ จะเป็นหนทางสำคัญที่ทำให้เกิดเมืองที่ได้ชื่อว่าสมาร์ทซิตีแท้จริง
ปัจจุบัน แกร็บ เป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการใน 209 เมือง รวม 8 ประเทศ ซึ่งรวมกัมพูชา ยอดใช้บริการ รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ 6 ล้านเที่ยวต่อวัน โดยแอปพลิเคชันแกร็บ ถูกติดตั้งในโทรศัพท์มือถือกว่า 100 ล้านเครื่องในภูมิภาคนี้
ที่ผ่านมา แกร็บให้บริการในประเทศไทยครบ 5 ปี ขณะนี้ขยายให้บริการแล้ว 16 จังหวัด ตั้งเป้าขยายเป็น 20 จังหวัดภายในปีนี้ กลางปีนี้มีแผนขยายไปหัวหิน หลังจากคลุมหัวเมืองใหญ่นอกกรุงเทพฯ อย่าง ภูเก็ต, สงขลา, เกาะสมุย, พัทยา และโคราชแล้ว
“วันนี้ แกร็บไทยแลนด์ มีพนักงาน 400 คน บอกได้เลยว่า 400 คนนี้มีฝรั่งเพียง 3 คน ใน 400 คนนี้ราว 120-150 คนเป็นคอลเซ็นเตอร์ เราให้ความสำคัญกับการตอบคำถาม นอกนั้น เป็นการตลาด เป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลราว 10 คน ถือเป็นการเพาะบ่มบุคลากรไทยให้สู้ต่างชาติได้”
***ก้าวต่อไป คือ แอปสำหรับทุกวัน
วิสัยทัศน์ล่าสุด คือ แกร็บต้องการเชื่อมทุกอย่างไว้ในแอปพลิเคชันเดียว แกร็บจึงปรับโครงสร้างให้องค์กรมี 3 บริการ คือ 1. การเดินทางขนส่ง ทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ 2. บริการส่งของ ทั้งอาหารและสิ่งของ 3. บริการชำระเงิน
“แกร็บไทยแลนด์วันนี้มี 3 ขา การเดินทางขนส่งยังเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุด คาดว่าสัดส่วนนี้จะเปลี่ยนแปลงเมือให้บริการแกร็บฟู้ด (Grab Food)” ธรินทร์ ระบุ
แกร็บฟู้ดที่ธรินทร์ พูดถึงคือบริการจัดส่งอาหาร แม้จะเพิ่งเริ่มให้บริการ 3-4 เดือน แต่ผู้บริหารแกร็บ ระบุว่า ได้รับผลตอบรับดีมาก ช่วงแรกเปิดให้บริการในรัศมี 5 กิโลเมตร สามารถติดตามได้ตลอดว่า อาหารอยู่ที่ไหน พิมพ์แชตสั่งอาหารได้ อีกไม่นานจะมีแอปให้ร้านค้า ถึงวันนั้นระบบจะสมบูรณ์มากขึ้น
“วันนี้ แกร็บฟู้ดสั่งอาหารได้แล้ว ส่งฟรี อาหารหลากหลาย ผู้ขับของแกร็บทุกรายสามารถร่วมให้บริการด้วยทั้งส่งผู้โดยสาร และอาหาร” ธรินทร์ กล่าว “อูเบอร์อีทส์ มีร้านพันธมิตร ประมาณ 1,000 ร้านเท่านั้น ตอนนั้น เรามีประมาณ 2-3,000 รายแล้ว เมื่อเอา 2 บริการมารวมกัน แกร็บต้องทำสัญญากับร้านใหม่”
รวมเบ็ดเสร็จแล้ว วันนี้แกร็บฟู้ดมีพันธมิตรร้านค้า 4,000 กว่าร้าน ใน 4 เดือนออเดอร์ หรือยอดสั่งซื้อเติบโต 440% ออเดอร์เหล่านี้เกิดจากผู้ใช้เปิดแอปแล้วพบเมนูสั่งอาหาร ซึ่งธรินทร์ เชื่อว่า ความสำเร็จนี้คือผลจากการเป็นวันสต็อปเซอร์วิสแอป
“ในอนาคต แกร็บฟู้ดจะขยายคลุมกรุงเทพฯ ทั้งหมด อีก 2 สัปดาห์คนจะเห็นเมนูแกร็บฟู้ดในแอปพลิเคชัน” พร้อมระบุว่า หลังวันที่ 1 มิถุนายน ราคาค่าบริการส่งอาหารของแกร็บฟู้ด จะเริ่มต้นที่ 10 บาท
นอกจากการเป็น “เดลีไลฟ์แอป” หรือแอปพลิเคชันสำหรับทุกวันที่มีทุกบริการอยู่ภายใน ผู้บริหารแกร็บยืนยันว่าผู้ขับทุกกลุ่มพร้อมจดทะเบียนถูกต้อง และให้ข้อมูลหน่วยงานไทยเพื่อไม่ให้ถูกดาบคำสั่งห้าม “รถแกร็บป้ายทะเบียนขาว” รับลูกค้า โดยพยายามประสานเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดต่อไป เพราะแกร็บมีภาระรับผิดชอบทั้งกลุ่มผู้โดยสารและคนขับ
ขณะนี้ ธรินทร์ ยืนยันว่า ไม่มีผู้บริหารแกร็บเดิมลาออก ส่วนทีมงานเดิมของอูเบอร์ยังไม่มีสรุปตัวเลขยุบรวม หรือให้ออกเพราะอยู่ระหว่างเจรจา และเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการเลือกว่าจะอยู่หรือไป.