ยักษ์ใหญ่ทั้งเดลล์ (Dell), เฟซบุ๊ก (Facebook), เอชพี (HP) และไมโครซอฟท์ (Microsoft) รวมถึงอีกหลายบริษัทขานรับร่วมจับมือกันสู้การโจมตีไซเบอร์ทุกรูปแบบ
ภัยไซเบอร์ หรือ Cyberattacks นั้นเป็นปัญหาระดับโลกที่อาจทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลกับทุกคน ความสำคัญของภัยไซเบอร์ทำให้ยักษ์ใหญ่ และบริษัทอื่นกว่า 34 รายในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับการโจมตีที่อาจเกิดขึ้น โดยทั้งหมดลงนามในข้อตกลงชื่อไซเบอร์ซิเคียวริตีเทคแอคคอร์ด (Cybersecurity Tech Accord)
ข้อตกลงนี้เป็นเหมือนสัญญาที่มีเป้าหมายปกป้องลูกค้าทั่วโลกจากการลักลอบเข้าสู่ระบบโดยไม่คำนึงถึงสถานที่ที่การโจรกรรมเกิดขึ้น หรือกลุ่มคนผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตี ทุกคนในข้อตกลงนี้จะเพิ่มการป้องกันสำหรับลูกค้า รวมถึงจะเพิ่มความสามารถ ให้ผู้ใช้ปกป้องตัวเองได้ดีขึ้นด้วย
ข้อตกลงนี้ยังสร้างความเป็นพันธมิตรเพื่อแบ่งปันข่าวสารภัยคุกคาม และช่องโหว่ ที่สำคัญคือ การยืนยันว่าสมาชิกของกลุ่มจะไม่ให้ความช่วยเหลือใดกับรัฐบาล เพื่อทำการโจมตีภัยไซเบอร์ใคร
นอกจากบริษัทด้านความปลอดภัย เช่น อะวาสต์ (Avast), ไฟร์อาย (FireEye) และไซแมนเทค (Symantec) ยังมีบริษัทซิสโก้ (Cisco), Dell, Facebook, HP, Microsoft รวมถึงโนเกีย (Nokia) เช่นเดียวกับบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ BT และ Telefonica ที่ขานรับด้วยการเป็นสมาชิกข้อตกลงนี้ถือเป็นสัญญาณว่าทุกบริษัทจะเชื่อถือ และแบ่งปันมาตรฐานด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์โดยไม่มีหลักประกันใดเมื่อลงชื่อเข้าร่วมแล้ว
การประชุมครั้งแรกของสมาชิกกลุ่ม Accord จะเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมอาร์เอสเอ (RSA) ซึ่งกำลังจัดขึ้นในขณะนี้ที่ซานฟรานซิสโก โดย RSA ก็เป็นสมาชิกด้วย ทั้งหมดกำลังพิจารณาเพื่อดำเนินการร่วมกันในการประกาศหลักเกณฑ์ทั่วไป และคุณลักษณะเพื่อใช้เป็นมาตรฐาน
ในทางทฤษฎี การก่อตั้งกลุ่มนี้ถือเป็นการแสดงถึงแนวร่วมที่หลายบริษัทจะทำงานร่วมกันเพื่อต้านภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ บนแนวคิดของกลุ่มว่า “ทุกคนควรได้รับการคุ้มครอง” อย่างไรก็ตาม แบรนด์ใหญ่อย่างแอปเปิล (Apple), อเมซอน (Amazon) และทวิตเตอร์ (Twitter) นั้นไม่ปรากฏในรายชื่อ ขณะเดียวกัน ไม่มีบริษัทสัญชาติจีน หรือรัสเซียลงนามในข้อตกลงนี้ ไม่ว่าอย่างไร การก่อตั้งกลุ่ม Accord นี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการป้องกันภัยโจมตีทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายผลจากรายชื่อสมาชิกปัจจุบัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง