xs
xsm
sm
md
lg

ตามติดสิงคโปร์ มาเลเซียลุยสอบดีล Uber-Grab หวั่นทำอุตสาหกรรมไม่แข่งขัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะกรรมการการขนส่งสาธารณะทางบกของประเทศมาเลเซีย (SPAD) เตรียมตั้งกระบวนการตรวจสอบดีลแกร็บ (Grab) ซื้อกิจการคู่แข่งอย่างอูเบอร์ (Uber) ในอาเซียน ร่วมด้วยคณะกรรมการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้ามาเลเซีย (MyCC) ที่ตื่นตัวเพื่อตรวจสอบดีลนี้อย่างจริงจัง หลังจากเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ออกมาประกาศกับสื่อแล้วว่า ดีลนี้อาจผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นการควบรวมกิจการที่อาจทำให้อุตสาหกรรมไม่เกิดการแข่งขันเท่าที่ควร ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในประเทศ

1 วันหลังจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสิงคโปร์ หรือ Competition Commission of Singapore (CCS) ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มีนาคมว่า CCS ได้เริ่มการตรวจสอบข้อตกลง และเสนอมาตรการชั่วคราวที่จะต้องกำหนดให้ Uber และ Grab ตรึงราคาก่อนดีลไว้ ล่าสุด คณะกรรมการการแข่งขันของมาเลเซีย หรือ Malaysia Competition Commission (MyCC) ก็ออกแถลงการณ์ลักษณะเดียวกัน เพื่อตรวจสอบว่า ดีลนี้ผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าหรือไม่

Datuk Seri Nancy Shukri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า Grab ได้ยืนยันกับเธอในระหว่างการประชุมก่อนที่จะมีการประกาศดีลซื้อขายระหว่าง Uber-Grab ซึ่งแม้จะมีการระบุว่าโครงสร้างค่าโดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบจากการควบรวม แต่เมื่อผลการศึกษาของรัฐบาลสิงคโปร์ พบประเด็นที่ไม่น่าไว้วางใจ หน่วยงานอย่าง SPAD และ MYCC จึงจะต้องพิจารณาให้ละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่า ดีลนี้มีการละเมิดกฎหมายการแข่งขันหรือไม่

เบื้องต้น ผู้ใช้บริการ Uber และ Grab บางส่วนได้แสดงความกังวลว่า การควบรวมกิจการจะขจัดการแข่งขันในตลาดรถร่วมเดินทาง และอาจส่งผลให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้น หรือคุณภาพการให้บริการลดลง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนมุมมองว่า ดีลนี้ทำให้ Grab และ Uber ไม่ต้องแข่งกันให้เหนื่อยอีกต่อไป ขอเพียง Uber หยุดแล้วปล่อยให้ Grab ให้บริการต่อไป เท่านี้ Grab ก็จะแบ่งรายได้ให้ Uber ตามจำนวนหุ้นที่ถือ

การประกาศของ SPAD และ MyCC เรื่องการตรวจสอบดีล Uber-Grab นี้ กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ SPAD ออกแถลงการณ์ว่า “มีเหตุอันสมควรที่จะสงสัยได้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลเสียต่อการแข่งขันในประเทศ” โดยแถลงการณ์ระบุว่า หน่วยงานของสิงคโปร์ได้เริ่มการตรวจสอบข้อตกลง และมีมาตรการชั่วคราวที่กำหนดให้ Uber และ Grab รักษาราคาก่อนประกาศดีลไว้ แต่ในเบื้องต้น ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการวันที่ 8 เมษายน ซึ่งเป็นเส้นตายที่ลูกค้า Uber ในอาเซียน จะไม่สามารถเรียกรถตระกูล Uber ให้มารับได้

ด้านโฆษก Grab ไทยระบุว่า หลังวันที่ 8 เมษายน คนไทยที่มีแอปพลิเคชัน Uber ในเครื่องจะยังสามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้อยู่เมื่อเดินทางในประเทศนอกกลุ่มอาเซียน แต่การเดินทางในไทยจะไม่มีรถให้บริการ โดยผู้ที่ต้องการใช้บริการรถร่วมเดินทาง จะต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน Grab และใช้บริการ Grab แทน

นอกจากประเด็นผิดกฎหมาย ดีลของ Uber-Grab ยังมีข่าวแง่ลบเรื่องการสื่อสารในองค์กรที่มีช่องโหว่ของ Uber ทำให้พนักงานสับสนเรื่องนโยบายปรับโครงสร้างองค์กร จนมีข่าวรั่วว่า พนักงาน Uber ในสิงคโปร์ ได้รับคำสั่งให้เก็บของออกจากสำนักงานภายใน 2 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวจากพันธมิตรของ Uber ที่ไม่แน่ใจในนโยบายหลังจากดีล ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากดีล ซึ่ง Uber และ Grab ประกาศเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น