โอเปอเรอเตอร์ผวา กสทช. เตรียมออกประกาศเอาผิดโอเปอเรเตอร์ หากลูกตู้ลงทะเบียนไม่ถูกต้อง โดยลูกค้าองค์กรต้องแจ้งชื่อลูกจ้างที่ใช้งานทั้งหมด รวมถึงพ่อแม่ที่ซื้อซิมให้ลูก หลาน ใช้ด้วย ด้านโอเปอเรเตอร์ไม่เห็นด้วย แนะควรออกเป็นกฎหมายบังคับที่ตัวคนใช้งานมากกว่า ขณะที่นักวิชาการชี้กฎระเบียบที่เคร่งเกินไป จะทำให้ต่อไปหาซื้อซิมยากขึ้น
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ได้เชิญตัวแทนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์), ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องการลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
โดยมีสาระสำคัญ เพื่อต้องการให้ลูกตู้ลงทะเบียนซิมการ์ดได้อย่างถูกต้อง หากไม่ถูกต้องโอเปอเรเตอร์จะมีความผิด นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการให้ผู้ลงทะเบียนในนามองค์กรต้องลงทะเบียนพนักงานที่ใช้งานด้วยว่าเป็นผู้ใดใช้ รวมถึงพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ที่ซื้อซิมให้ลูกหลานใช้ ก็ต้องระบุชื่อของลูก หลาน ที่ใช้งานด้วย โดย กสทช. ต้องการให้การลงทะเบียนมีประสิทธิภาพช่วยหน่วยงานภาครัฐในการรักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ บรรยากาศในการประชุมพบว่า ไม่มีใครเห็นด้วย เนื่องจากเป็นการผลักภาระให้กับโอเปอเรเตอร์ การบังคับให้องค์กรนำพนักงานไปลงทะเบียนซิม หรือแจ้งชื่อผู้ใช้งาน ก็สร้างความยุ่งยากให้กับองค์กร เพราะคนในองค์กรต่างก็เข้าออก และหมุนเวียนใช้เบอร์โทรศัพท์กันเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนลูกตู้เอง ก็ไม่ใช่หน้าที่ ที่โอเปอเรเตอร์จะต้องรับความผิดแทน ดังนั้น กสทช. ควรออกเป็นกฎหมาย เหมือนการขับรถที่ทุกคนต้องมีใบขับขี่ อย่างนั้น จะทำให้ประชาชนลงทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กสทช. ได้ขอให้ผู้ที่ได้รับเชิญมารับฟังความคิดเห็นทำความเห็นเสนอกลับมาที่สำนักงานฯ ภายในวันที่ 23 มี.ค. ก่อนจะปรับแก้ร่างประกาศเพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. เพื่อให้บังคับใช้ได้ภายในเดือน พ.ค. นี้
ด้านนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเข้าใจในเหตุผลของการดูแลเรื่องความปลอดภัย แต่สิ่งที่เป็นห่วง คือ การนำประกาศมาใช้จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการให้ตัวแทนจำหน่าย หรือลูกตู้ ที่มีกว่า 50,000 ราย ต้องเก็บข้อมูลและเชื่อมฐานข้อมูลกับ กสทช. ภายใน 180 วัน, การบังคับผู้ครอบครองซิมของนิติบุคคลต้องยืนยันตัวตนด้วย ที่สำคัญที่สุด ประเด็นการที่ผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบตัวแทนจำหน่ายที่เก็บข้อมูลผิดพลาด
ขณะที่นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ร่างประกาศฯดังกล่าวเป็นความพยายามจัดระเบียบการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อรองรับการทำธุรกรรม เนื่องจากระเบียบเดิมยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะจุดลงทะเบียนที่ร้านตัวแทนจำหน่าย กสทช. ต้องการจัดระเบียบขั้นตอนการลงทะเบียนซิมทั้งหมด ตั้งแต่คนกระจายซิม ตัวแทนจำหน่าย เพื่อแก้ปัญหาการถือครองซิมที่ไม่ตรงกับผู้จดทะเบียน
ทั้งนี้ อาจจะมองว่า กสทช. ผลักภาระให้ผู้ให้บริการ เอกชนจะรู้สึกว่าเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นมา เหมือนการโยนหน้าที่ในการพิสูจน์ตัวตนให้เป็นหน้าที่ของโอเปอเรเตอร์ ต้องบันทึกข้อมูล ต้องลงทะเบียนร้านลูกตู้ทั้งหมด เอกชนย่อมไม่พอใจ เพราะเขายุ่งยากมากขึ้น ซึ่งประเด็นที่กังวลที่สุด คือ ถ้าร้านลูกตู้ทำผิด เช่น ลงทะเบียนผิดให้ ถือว่าโอเปอเรเตอร์ต้องรับผิดด้วยนั้น ตรงนี้คือจุดที่โอเปอเรเตอร์หนักใจที่สุด
“หากร่างประกาศฯ มีผลตามที่รับฟังความคิดเห็น ย่อมมีผลกระทบกับการทำธุรกิจของผู้ให้บริการ ขั้นตอนการกระจายซิม และตัวแทนจำหน่ายอาจจะหายไป สุดท้าย การหาซิมใช้ อาจจะกลายเป็นเรื่องยาก ทั้งหมดยังไม่รวมการเอามาใช้กับการขายซิมออนไลน์ หรือการขายซิมผ่านตู้อัตโนมัติ ส่วนนิติบุคคลที่ลงทะเบียนแทนพนักงานใช้ จะต้องบันทึกข้อมูลคนถือซิม ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ต้องแจ้งในระบบ ถ้าผู้ครอบครองซิมเปลี่ยนผู้ใช้ ส่วนนี้มีอยู่เป็นล้านราย และบทเฉพาะกาลของประกาศระบุให้ทำภายใน 180 วัน ลำพังโอเปอเรเตอร์ ซึ่งเชื่อมระบบกับ กสทช. คงไม่มีปัญหา แต่ร้านลูกตู้อาจจะเชื่อมระบบไม่ทัน แต่โอเปอเรเตอร์ต้องรับผิดชอบความผิดนั้นเป็นเรื่องที่ลำบากมาก”