ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลและผู้สอบบัญชีของผู้ออกหลักทรัพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนสากล พร้อมรองรับโครงการประเมินภาคการเงิน (FSAP) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก
สำนักงานคณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลและผู้สอบบัญชีของผู้ออกหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน IOSCO (International Organization of Securities Commissions : IOSCO) เพื่อยกระดับคุณภาพการเปิดเผยข้อมูล และเนื่องจากในช่วงปลายปี 2561-ต้นปี 2562 ก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับดูแลระบบการเงินอื่น ๆ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจะเข้ารับการประเมิน FSAP (Financial Sector Assessment Program - FSAP) โดย ก.ล.ต. จะเข้ารับการประเมินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคตลาดทุนเพื่อประเมินประสิทธิภาพของการกำกับดูแลกฎเกณฑ์เกี่ยวกับหลักทรัพย์เทียบกับมาตรฐานสากลของ IOSCO
ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ การอนุญาตและการเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุน และบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน IOSCO ซึ่งจะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตลาดทุนไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศด้วย โดย ก.ล.ต. ได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย โดยคำนึงถึงความพร้อมของตลาดทุนไทย และไม่สร้างภาระต่อผู้ที่เกี่ยวข้องจนเกินควร โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ
การปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหาร โดยเพิ่มการเปิดเผยค่าตอบแทนรายบุคคลเฉพาะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร
การนำหลักเกณฑ์การจัดทำและเปิดเผยรายงานทางการเงิน ซึ่งในปัจจุบันบังคับใช้เฉพาะกับงวดปี และไตรมาสล่าสุด มาบังคับใช้กับรายงานทางการเงินทั้ง 3 ปีย้อนหลัง และไตรมาสล่าสุด รวมทั้งให้เปิดเผยรายการระหว่างกันย้อนหลัง 3 ปี ด้วย
การปรับปรุงการเปิดเผยวัตถุประสงค์การใช้เงินในแบบ filing ให้ชัดเจน รวมทั้งปรับหลักเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นขึ้นในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินด้วย
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงหลักเกณฑ์ผู้สอบบัญชีของผู้ออกตราสารทุน โดยยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้สอบบัญชีในต่างประเทศที่ต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีในเครือข่ายเดียวกันกับสำนักงานสอบบัญชีไทย และไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อย เพื่อลดภาระและอุปสรรคในการระดมทุนโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ประสงค์จะรับฟังความเห็นในวงกว้างเพื่อให้แน่ใจว่าแนวทางการปรับปรุงแก้ไขจะมีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. http://capital.sec.or.th/webapp/phs/upload/phs1521168500hearing_06_2561.pdf ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือโทรสาร 0-2033-9647 หรือทาง e-mail corporat@sec.or.th จนถึงวันที่ 16 เมษายน 2561