xs
xsm
sm
md
lg

ความสะเพร่าใน TRITN / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีตผู้บริหาร บริษัท ไทรทัน โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ TRITN  กำลังตกในที่นั่งลำบาก หลังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบการอนุมัติซื้อทรัพย์สินว่า เป็นการประมาทเลินเล่อ จนบริษัทเสียหายหรือไม่


ก่อนหน้า ก.ล.ต.ได้ร้องต่อ ปอศ. ฟ้องนาย สุระเดช บำรุงนอก นายพรหมมาตย์ จูมดอก และนายเฉลิมวุธ ปัญญาสวัสดิ์ กลุ่มผู้ขายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 6 แห่งในภาคอีสานให้ บริษัท สเตรกา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ลูเซนท์ เอนเนอร์จี จำกัด บริษัทย่อยของ TRITN ในความผิดฐานนำใบหุ้นปลอมมาฉ้อโกง

การซื้อโรงไฟฟ้า 6 แห่งในภาคอีสานของ เป็นไปอย่างรีบร้อน โดย ม.ล.ศานติดิศ ดิศกุล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TRINT เป็นผู้ติดต่อกับกลุ่มผู้ขายทั้ง 3 ราย เมื่อเดือนเมษายน 2559

ต่อมาวันที่ 5 เมษายน ม.ล.ศานติดิส ได้ให้ข้อมูลการซื้อโรงไฟฟ้ากับ นายสมชาย ศิริวิชยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท สเตรกา จำกัด เพื่อนำเสนอกับคณะกรรมการ TRITN ซึ่งมีมติอนุมัติลงนามในสัญญาซื้อโรงไฟฟ้าในวันเดียวกัน

หลังจากนั้นได้มีการชำระค่ามัดจำ 2 งวด งวดละ 60 ล้านบาท รวม 120 ล้านบาท โดยการทำสัญญาซื้อโรงไฟฟ้า ไม่มีการประเมินราคาทรัพย์สิน โดยม.ล.ศานติดิศ อ้างว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน เพราะผู้ขายอาจเปลี่ยนใจไม่ขาย

โรงไฟฟ้าทั้ง 6 แห่ง ผู้ขายอ้างว่า ไม่มีภาระหนี้ผูกพัน และได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า มีค่าแอดเดอร์หน่วยละ 8 บาท แต่ปรากฏว่า ในวันทำสัญญา สัญญาซื้อขายไฟฟ้าและค่าแอดเดอร์ถูกยกเลิกไปแล้ว

นอกจากนั้น ผู้ขายยังไม่สามารถส่งมอบหุ้นโรงไฟฟ้าทั้ง 6 แห่งได้ ทำให้บริษัทลูก TRITN ต้องสูญเสียเงินค่ามัดจำ 120 ล้านบาท

 ปัญหาที่ ก.ล.ต. ต้องสาวต่อไปคือ ใครจะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายในการซื้อโรงไฟฟ้า 6 แห่งจากแก๊งต้มตุ๋น ที่ถูกร้องทุกข์ดำเนินคดีไปแล้ว

และการซื้อขายรายการนี้ เข้าข่ายการผ่องถ่ายเงินหรือไม่ ม.ล.ศานติดิศ ผู้ที่ผลักดันการทำสัญญาซื้อโรงไฟฟ้า และอดีตคณะกรรมการ TRITN ที่ร่วมอนุมัติทำสัญญา ต้องร่วมรับผิดชอบในความประมาทเลินเล่อ จนทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายหรือไม่

TRINT อยู่ในภาวะย่ำแย่มาหลายปี ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง มียอดขาดทุนสะสมจำนวนมาก ไม่อาจคำนวณหา ค่า พี/อี เรโช ได้ไม่จ่ายเงินปันผลมายาวนาน ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีจำนวนทั้งสิ้น 5,711 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 73.78 % ของทุนจดทะเบียน

ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่เพิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อปลายปี 2559 โดยนางหลุยส์ (ดิศกุล ณ อยุธยา) เตชะอุบล เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 20.76 % ของทุนจดทะเบียน

คดี TRITN ในเบื้องต้น ก.ล.ต. ใช้เวลาสอบสวนและสรุปสำนวนเร็วมาก โดยภายใน 2 ปี สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษแก๊งปลอมใบหุ้นโรงไฟฟ้ามาหลอกขายผู้บริหาร TRITN ได้

ขั้นตอนต่อไปคือ การสอบพฤติกรรมของอดีตผู้บริหาร และอดีตคณะกรรมการ TRITN ว่า จะมีความผิดในการอนุมัติซื้อโรงไฟฟ้า ที่ดำเนินไปในขั้นตอนที่ไม่ปกติหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นความประมาทเลินเล่อ โดยสุจริตหรือโดยทุจริตก็ตาม

ม.ล.ศานติดิศ และอดีตคณะกรรมการ TRITN ชุดที่ถูกหลอกต้มซื้อหุ้นโรงไฟฟ้า คงนอนไม่หลับไปพักใหญ่ เพราะไม่รู้ว่า ใครจะโดนข้อหาอะไรกันบ้าง

เงิน 120 ล้านบาทที่เสียหาย เป็นเงินของผู้ถือหุ้น และต้องมีคนรับผิดชอบ จะชดใช้ในทางแพ่งก็ได้ จะต้องรับโทษทางอาญาก็ไม่เป็นไร

แต่ผู้ถือหุ้น TRITN ต้องได้รับการเยียวยาจากความสะเพร่าของฝ่ายบริหาร

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )


กำลังโหลดความคิดเห็น