เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 มี.ค.) มีรายงานว่า เฟซบุ๊ก (Facebook) โซเชียลมีเดียชื่อดัง ได้ยุติการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท Strategic Communication Laboratories (SCL) และบริษัทด้านดาต้าอะนาไลติกส์อย่าง แคมบริดจ์ อะนาไลติกา (Cambridge Analytica) เนื่องจากพบว่ามีการเก็บและแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กประมาณ 50 ล้านคน โดยปราศจากการได้รับอนุญาตใด ๆ จากเจ้าตัว
การกระทำดังกล่าวถือว่ากระทบต่อข้อกำหนดในการให้บริการของเฟซบุ๊ก และทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ข้อมูลที่บริษัทดังกล่าวเก็บไปได้นั้น ถูกนำไปใช้กับแคมเปญหาเสียงของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2016 หรือไม่ เนื่องจากมันเป็นข้อมูลจำนวนมากพอที่นักการตลาดสามารถสร้างโปรไฟล์ส่วนบุคคล รวมถึงสามารถสร้างโฆษณาที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเต็มที่
ผู้ที่ออกมาแจ้งความผิดปกติดังกล่าว คือ พนักงานในส่วน Academic ของมหาวิทยาลัย Cambridge ชื่อคริสโตเฟอร์ ไวลี่ ที่ได้มีการส่งข้อมูลเหล่านั้นไปยัง The Observer และนิวยอร์กไทม์ พร้อมอธิบายว่า บริษัทมีการกระทำบางอย่างที่อาจผิดศีลธรรม
การรั่วไหลของข้อมูลครั้งนี้ ได้ทำให้หลายฝ่ายจับตามากขึ้นว่า แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กไม่ปลอดภัย แต่เฟซบุ๊กก็ได้ออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลที่รั่วไหลนั้นไม่ได้เกิดจากเฟซบุ๊ก ตรงกันข้าม มันเป็นการส่งผ่านข้อมูลโดยศาสตราจารย์ ดร. Aleksandr Kogan มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันชื่อ “Thisisyourdigitallife และในแอปพลิเคชันได้ระบุไว้ว่า จะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของอุปกรณ์นั้นไปใช้ได้เพียงแต่กรณีนี้ ดร. Aleksandr ได้ก้าวไปไกลกว่านั้น ด้วยการนำมันไปให้ Cambridge Analytica นั่นเอง
ในตอนนี้ ทาง Cambridge Analytica เผยว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับเฟซบุ๊กว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติหลายคนของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มใช้สื่อโซเชียลมีเดียของตนเองเรียกร้องให้เฟซบุ๊กรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เช่น Amy Klobuchar จากมิเนโซต้า ที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารของเฟซบุ๊กออกมาพบกับคณะกรรมการของวุฒิสภาแล้ว
ความผิดของเฟซบุ๊กต่อกรณีดังกล่าวในมุมของ The Observer จึงอาจมีในเรื่องที่ว่า เฟซบุ๊กพบว่า มีการเก็บข้อมูลจากแพลตฟอร์มในสเกลระดับที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในช่วงปลายปี 2015 เกิดขึ้น แต่ในเวลานั้น บริษัทไม่มีการออกคำเตือนแก่ผู้ใช้งานแต่อย่างใดนั่นเอง