xs
xsm
sm
md
lg

3 เรื่องน่ารู้ ของ Wear OS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลังจากเปิดตัวระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์แวร์ (Android Wear) มา 4 ปี ก็ถึงเวลาที่กูเกิล (Google) จะยกเครื่องระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์ IoT ตัวนี้เสียใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อให้เก๋ไก๋ไฉไลกว่าเดิมกับชื่อ แวร์โอเอส (Wear OS) ซึ่งในช่วงที่ยังสดใหม่นี้ เราจึงขอนำเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ Wear OS มาฝากกัน

1. Wear OS พร้อมทำงานทั้งกับแอนดรอยด์ และ iOS

จากเดิมที่เคยใช้ชื่อแอนดรอยด์แวร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนว่า มันไม่สามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์บนระบบ iOS ได้ การเปลี่ยนชื่อเป็น Wear OS by Google หรือที่หลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า Wear OS จึงทำให้มันมีความชัดเจนขึ้นว่า มันสามารถทำงานร่วมกับทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่กูเกิลค้นพบก่อนหน้านี้ที่ว่า หนึ่งในสามของผู้ใช้นาฬิกาบนแพลตฟอร์มแอนดรอยด์แวร์นั้น เป็นผู้ใช้ไอโฟนนั่นเอง โดยกูเกิลคาดว่า การเปลี่ยนชื่อใหม่จะสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ เทคโนโลยี ของกูเกิลได้ดียิ่งขึ้นว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาเพื่อทุกคนที่สวมอุปกรณ์ Digital Wearable นั่นเอง

2. Wear OS ออกแบบมาเพื่อกลุ่มไหนกัน

ในจุดนี้ ต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของชื่อแอนดรอยด์ที่กูเกิลนำมาตั้งเป็นระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนอันโด่งดัง การนำชื่อแอนดรอยด์มาใช้กับสมาร์ทวอตช์ก็เป็นการสะท้อนว่า กูเกิลต้องการยกความสามารถทั้งหมดที่เคยทำได้บนสมาร์ทโฟนมาสู่อุปกรณ์อย่างสมาร์ทวอตช์นั่นเอง

การใช้งานของอุปกรณ์ Wear OS ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างเช่นกัน เพราะมันจะทำงานได้กับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชัน 4.4 ขึ้นไป หรือหากเป็น iOS ก็ต้องเป็นเวอร์ชัน 9.3 ขึ้นไปเช่นกัน ที่สำคัญ มันไม่รองรับแอนดรอยด์ โก (Android Go) นะ

3. Wear OS ทำอะไรได้บ้าง

ความสามารถของ Wear OS ที่น่าสนใจอาจแบ่งออกได้เป็น 5 ข้อดังนี้

เรียกใช้ Google Assistant - ยุคนี้เป็นยุคที่ใคร ๆ ก็น่าจะอยากเรียกใช้ผู้ช่วยดิจิทัล สำหรับสิ่งที่ Google Assistant จะมาช่วยบนสมาร์ทวอตช์นั้น มีตั้งแต่เช็กสภาพอากาศ, ตั้งเตือนความจำ หรือให้เริ่มบันทึกการวิ่งก็ยังได้ โดยการเรียกผู้ช่วยดิจิทัลออกมานั้น เพียงกดปุ่มพาวเวอร์ค้างไว้ นาฬิกาจะถามขึ้นมาว่ามีอะไรให้มันช่วยไหม หรืออีกทางหนึ่ง คือ การพูดกับตัวเครื่องว่า OK Google ระบบจะแสดงภาพไมโครโฟนให้เราพูดคำสั่งลงไปได้เช่นกัน

เรียกใช้แอปพลิเคชันจากกูเกิล - แอปพลิเคชันที่พ่วงมาใช้งานได้บน Wear OS ด้วยมีมากมาย ตั้งแต่ Google Calendar, Google Keep, Google Maps, Google Fit, Google Camera, and Google Play Music

ไม่ขาดการเชื่อมต่อ - ผู้สวมสามารถรับอีเมล รับสายโทรศัพท์ได้ รวมถึงการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้เสมอ

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอื่น ๆ - ผู้สวมอุปกรณ์ที่รัน Wear OS สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอื่น ๆ จากกูเกิล เพลย์ สโตร์มาติดตั้งเพิ่มเติมได้ด้วย โดยเข้าไปที่กูเกิลเพลย์ และกดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ต้องการมาติดตั้งได้อย่างง่าย ๆ

เก็บและฟังเพลง - นอกจากเก็บและฟังเพลงได้แล้ว ยังสามารถฟังเพลงจากแอปพลิเคชัน เช่น สปอติฟาย (Spotify) หรือกูเกิล เพลย์ มิวสิค (Google Play Music) ได้ด้วย ซึ่งการฟังเพลงนี้ ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน แต่อย่างใด และสามารถเชื่อมต่อกับหูฟังบลูทูธได้ด้วย

ทั้งนี้ การปรากฏตัวของชื่อ และโลโก้ใหม่ของ Wear OS คาดว่ากำลังทยอยเริ่มต้น ซึ่งคาดว่าเราจะได้เห็นข้อมูลของ Wear OS มากขึ้นในงานสัมมนาเพื่อนักพัฒนา Google I/O ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น