xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. จัดประชุม สร้างความปลอดภัยทำธุรกรรมบนมือถือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสทช. จัดประชุม สร้างความปลอดภัยการทำธุรกรรมบนมือถือ ด้านไอทียู ชี้การจัดการด้านการเงิน หากมีการใช้แอปพลิเคชันเข้ามาร่วมด้วย จะทำให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงานได้จัดประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ 2017 (NBTC International Symposium on Digital Financial Inclusion) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศไทย ได้รับทราบนโยบายในเรื่องการรวมระบบการเงินในยุคดิจิทัล (Digital Financial Inclusion) ที่หลากหลายในระดับโลก รวมถึงการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือให้มีความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้มากขึ้น สำหรับการประชุมครั้งนี้มีวิทยากรจากภายในประเทศ และต่างประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์มากมาย

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 14 ล้านบัญชี และธนาคารบนมือถือมีมากกว่า 19 ล้านบัญชี โดยมีการเติบโตของการทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยสูงถึง 45% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทยด้านบริการพร้อมเพย์ รวมทั้งร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ในการจัดให้มีโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ยังไม่มีการเข้าถึง หรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึง เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสทช. ได้ทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) ในการสร้างความปลอดภัยการใช้งานธุรกรรมการเงินที่ต้องใช้เลขหมายโทรศัพท์ผูก ด้วยการผลักดันให้เกิดการลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วยการสแกนลายนิ้วมือ โดยภายในเดือน ต.ค. นี้ จะบังคับใช้สำหรับคนลงทะเบียนเบอร์ใหม่ทุกรายด้วยเครื่องสแกนลายนิ้วมือ 20,000 เครื่อง

ขณะที่ นายแชซุป ลี (Chaesub Lee) ผู้อำนวยการภาคมาตรฐานโทรคมนาคม จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู (ITU) กล่าวว่า การจัดการด้านการเงิน หากมีการใช้แอปพลิเคชันเข้ามาร่วมด้วย จะทำให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ในหลายประเทศใช้ดีเอฟเอส (DFS) ทั้งใน e-money และใน Mobile Money ซึ่งเป็นการสนับสนุนการใช้เงินด้วยดิจิทัล ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม และลดอัตราการใช้เงินสด ระบบนี้จะช่วยการกระตุ้นผู้ใช้เกิดการทำธุรกรรมมากขึ้น รัฐเองก็เข้าถึงข้อมูลได้ และสถาบันการเงินสามารถใช้วิเคราะห์การใช้จ่ายเพื่อนำมาตัดสินใจให้สินเชื่อ ช่วยลดต้นทุนได้ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาต้องสอดรับกับการเชื่อมโยงของระบบด้วย

ทั้งนี้ ผลจากการใช้ DFS จะทำให้เห็นผลของสภาพคล่องทางการเงินง่ายขึ้น ในหลายประเทศนำมาใช้กับการจ่ายบำนาญให้กับข้าราชการ อย่างเช่น ในเคนยา มีผู้ใช้ Mobile Money ถึง 14 ล้านราย คิดเป็นอัตราถึง 24% ของ GDP ของประเทศ สามารถเข้าถึงบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งประเทศ ซึ่งสรุปแล้ว ควรลดการใช้เงินสดลง และเพิ่มการทำธุรกรรมด้วยดิจิทัลมากขึ้น มองว่า ไทยเองก็คงมีจะมีแนวทางเดียวกัน คือ ลดการใช้เงินสด

กำลังโหลดความคิดเห็น