กสทช. ทุ่ม 7 ล้านบาทต่อปี สร้าง Line official Account ติดต่อกับผู้รับใบอนุญาต และประชาชนทั่วไป หวังลดกระดาษ และค่าจัดส่งอีเอ็มเอส รับไทยแลนด์ 4.0
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ใช้งบประมาณ 7 ล้านบาทต่อปี เพื่อจัดทำ Line official Account โดยสามารถเพิ่มเพื่อนได้ในชื่อ @NBTC เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารให้แก่ประชาชน และกลุ่มผู้รับใบอนุญาต ซึ่งนับจากนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านไลน์ของสำนักงาน กสทช. ประชาชนสามารถนำไปเผยแพร่ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง โดยการจัดทำข้อมูลจะเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในช่วงนั้นๆ เช่น เคล็ดลับการใช้งานอุปกรณ์ด้านไอที เรตติ้งช่องรายการทีวีดิจิตอล รวมทั้งข้อมูลประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ
เนื่องจากปัจจุบัน การเผยแพร่ข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียเป็นไปอย่างรวดเร็ว และส่วนใหญ่จะมีคำถามว่า เป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ส่วนการใช้งานนั้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร สามารถพิมพ์คำที่ต้องการผ่านหน้าแชทต ซึ่งจะเป็นฟังก์ชัน auto-reply ตอบกลับทันที นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชัน On-Air ที่ผู้ติดตามทุกคนสามารถแชต เพื่อส่งข้อเสนอแนะ ร่วมเล่นเกมส์ลุ้นรับของพรีเมียม และมีส่วนร่วมในการตอบแบบสอบถามได้
ขณะที่กลุ่มผู้รับใบอนุญาต จะได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านฟังก์ชันที่เรียกว่า Business Connect ซึ่งสำนักงาน กสทช.เป็นองค์กรภาครัฐองค์กรแรกที่ใช้ฟังก์ชันนี้ในการแยกส่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบกิจการให้ผู้รับใบอนุญาตได้ทราบกันโดยเฉพาะด้วย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาตแต่ละประเภท การแจ้งผลการพิจารณาต่างๆ การเชิญเข้าร่วมประชุม และสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ และการค้นหาสำนักงาน กสทช.ที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งในอนาคต สำนักงาน กสทช.จะพัฒนาฟังก์ชันต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้มากยิ่งขึ้น เช่น สามารถตรวจสอบวันหมดอายุใบอนุญาต และวันที่ต้องมาต่ออายุใบอนุญาตผ่านไลน์ได้ทันที
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า แต่เดิมการสื่อสารกับผู้รับใบอนุญาต คือการทำหนังสือ และส่งทางอีเอ็มเอส ซึ่งในแต่ละครั้งต้องใช้กระดาษ และงบประมาณในการส่งอีเอ็มเอสจำนวนมาก ดังนั้น ไลน์เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐ กับประชาชน ให้มีความสะดวกมากขึ้น เป็นการปรับเปลี่ยนการสื่อสารให้เข้ากับยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวัน และมีการแบ่งปันข้อมูลผ่านโซเชียล ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะมีการแบ่งปันอย่างรวดเร็ว แต่อาจขาดการตรวจสอบที่ถูกต้อง ดังนั้น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านไลน์ของหน่วยงานรัฐ ก็จะช่วยยืนยันความถูกต้องได้ในระดับหนึ่ง และยังเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อีกด้วย