ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พิจารณาในการประชุม นัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2560 กำหนดให้การให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over The Top : OTT) เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์
ทำให้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ต้องรับผิดชอบและโดดเข้ามานั่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top เพื่อกำหนดนิยาม และออกมาตรการต่างๆในการกำกับดูแล OTT ประหนึ่งกิจการทีวีดิจิตอล วิทยุ และเคเบิลทีวี ที่หากนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ลามก อนาจาร ละเมิดลิขสิทธิ์ผิดกฎหมาย ผิดมาตรา 112 หรือโฆษณาชวนเชื่อเกินความเป็นจริง เมื่อมีผู้ถูกร้องเรียนนอกจากผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว ก็จะได้รับโทษจากกฎหมายของกสทช.ด้วย
อีกทั้ง กสทช.ยังมีอำนาจระงับการเผยแพร่ออกไปก่อนได้ทันที ไม่ต้องรอกระบวนการทางกฎหมายแบบเดิมซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า
***OTT คือกิจการบรอดแคสต์
พ.อ.นที กล่าวว่า เมื่อกำหนดให้บริการ OTT เป็นการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า บริการ OTT มีลักษณะและประเภทของการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างไร ซึ่งตามประกาศ กสทช. เรื่องกำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้กำหนดลักษณะของการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ออกเป็น 4 ลักษณะคือ 1.การให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Service) 2. การให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Network) 3. การให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Facility) และ 4. การให้บริการแบบประยุกต์ (Application)
การประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ มีห่วงโซ่การประกอบกิจการ (Value Chain) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.บริการ ซึ่งหมายถึง ผู้ผลิตหรือผู้รวบรวมเนื้อหารายการ เพื่อนำส่งไปยัง 2. ระบบเชื่อมโยงสัญญาณ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงสัญญาณเพื่อนำส่ง 'เนื้อหา' ไปยัง 3.ผู้ชม หรือผู้รับบริการ นั่นหมายความว่า ในกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่จะเริ่มต้นด้วยการรวบรวมเนื้อหารายการ แล้วส่งต่อไปยังแพลตฟอร์ม (เช่น PSI, TrueVisions หรือ TOT) ซึ่งจะใช้โครงข่ายสนับสนุน ได้แก่ โครงข่ายดาวเทียม หรือ โครงข่ายอินเทอร์เน็ต นำส่งบริการของตนไปยังผู้รับชมหรือผู้รับบริการ
ในส่วนของบริการ OTT ก็มีรูปแบบและลักษณะของห่วงโซ่การประกอบกิจการเหมือนกับกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ กล่าวคือ เนื้อหารายการ (ที่มาจากผู้ผลิต สตูดิโอ ช่องรายการ หรือผู้ใช้) จะถูกรวบรวม แล้วนำส่งไปยังแพลตฟอร์ม (เช่น Netflix, Hulu, Line TV, YouTube, Facebook เป็นต้น) แล้วใช้โครงข่ายสนับสนุน (ISP และ Open Internet) ส่งบริการไปยังผู้รับชมทั่วโลก
กรณีของบริการ OTT ที่ผู้ใช้สามารถผลิตเนื้อหาเอง (User Generated Content หรือUGC) เช่น YouTube, Facebook, Instragram และ Twitter ก็มีรูปแบบและลักษณะของห่วงโซ่การประกอบกิจการเหมือนกับบริการ OTT อื่นๆ เพียงแต่มีความแตกต่างในส่วนของเนื้อหารายการที่มิใช่มาจากช่องรายการหรือผู้ให้บริการเนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากผู้ใช้ที่สามารถผลิตเนื้อหาได้เอง แล้วค่อยนำส่งไปยังแพลตฟอร์ม รวบรวมส่งเนื้อหาผ่านโครงข่ายสนับสนุนไปยังผู้ชมหรือผู้รับบริการ
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบลักษณะห่วงโซ่ของการประกอบกิจการของ 'โทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่' กับ 'บริการ OTT' จึงพบว่า มีโครงสร้างที่เหมือนกัน แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 'บริการ' 'ระบบเชื่อมโยง' และ 'ผู้ชม' ในขณะที่ลักษณะของแพลตฟอร์มก็มีรูปแบบเดียวกัน กล่าวคือ ทั้งแพลตฟอร์มบริการ OTT และกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ ต่างก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกันในการรวบรวมเนื้อหาภาพและเสียง ก่อนส่งผ่านไปยังโครงข่ายสนับสนุนเพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้รับบริการ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริการนั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย เนื่องจากเนื้อหารายการบนแพลตฟอร์ม OTT นั้นสามารถมาได้จากทั้งช่องรายการและผู้ให้บริการเนื้อหาที่เป็นเจ้าของเนื้อหารายการ (Content Provider) หรือผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้สร้างเนื้อหาเอง (UGC) ในขณะที่บริการหรือเนื้อหาในกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่มาจากผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการเนื้อหารายการแต่เพียงอย่างเดียว
***ฟังเสียงรอบด้านก่อนออกมาตรการ
เพื่อให้มีมาตรการกำกับดูแลต่างๆออกภายในเดือนมิ.ย.และมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ค. หรือ อย่างช้า ส.ค.นี้ ทำให้ พ.อ.นที ต้องฟังเสียงของ OTT ให้รอบด้านก่อน เพื่อนำความเห็นมาสรุปและนำมาพิจารณาในการออกมาตรการต่างๆ ส่วนจะออกมาในรูปแบบของประกาศกฎหมายใหม่เพิ่มเติมหรือใช้กฎหมายเดิมที่กสทช.มีอยู่เหมือนผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล วิทยุ หรือ เคเบิลทีวีหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะต้องรอรับฟังความคิดเห็นและผลสรุปของคณะอนุกรรมการเสียก่อน
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย เริ่มจากนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน , ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล,สมาคมโฆษณาทุกระบบ,ผู้ให้บริการคอนเทนต์ที่เก็บเงิน,บล็อกเกอร์ชื่อดังที่มียอดผู้ติดตาม 100 อันดับแรกในยูทูป และ เฟซบุ๊ก โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือ
1.ควรสร้างความสมดุลเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ การสร้างสรรค์ กับอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้บนแพลตฟอร์มดังกล่าว 2.มีการกำกับดูแลโฆษณาที่ไม่เหมาะสม ด้วยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.เสนอแนะให้มีตัวชี้วัด และหลักเกณฑ์ว่า บริการ OTT ใดที่มีอิทธิพลต่อสาธารณะในวงกว้าง ต้องมีเส้นแบ่งที่เหมาะสมระหว่างการใช้เพื่อส่วนบุคคล ติดต่อเพื่อน และแบบไหนที่กระทบต่อวงกว้าง
4.ควรกำกับผ่านแพลตฟอร์ม OTT ด้วยถึงจะมีประสิทธิภาพ เพื่อกลั่นกรองเนื้อหาให้เหมาะสมก่อนถึงคนชม 5.เนื้อหาจากสื่อเดิมที่นำไปลงบน OTT ควรมีการกำกับแบบเดียวกันกับการลงบนสื่อเดิม 6.ควรคำนึงถึงประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ การขัดต่อศีลธรรมอันดี และประเด็นที่มีเนื้อหากระทบต่อเด็ก และเยาวชนด้วย และ 7.ควรส่งเสริมหลักการรู้เท่าทันสื่อให้ประชาชนแยกแยะข้อเท็จจริงกับความเห็นส่วนตัวได้
โดยความเห็นในส่วนของเพจดังเฟซบุ๊กที่มียอดติดตามเกินล้านราย ซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อคนหมู่มาก อย่าง 'วู้ดดี้' วุฒิธร มิลินทจินดา กล่าวเพียงสั้นๆว่า เป็นการพบกันครั้งแรกของตนเองและกสทช.ยังคงต้องรอทางกสทช.สรุปหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนก่อน ส่วนตัวไม่ได้เสนออะไร เพราะมาฟังเฉยๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับโลก ที่ทั่วโลกก็ประสบปัญหา ขณะที่ 'กาละแมร์' พัชรศรี เบญจมาศ กล่าวสั้นๆไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่มีอะไรชัดเจน เป็นเพียงการมารับฟังข้อมูลเท่านั้น
ส่วน 'จอห์น' วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ SpokeDark.TVให้ความเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์ควรเป็นเสรี ปกติ ก็มีการกำกับดูแลกันเองอยู่แล้ว ชอบหรือไม่ชอบเนื้อหาแบบไหน ก็สามารถเลือกได้ พ่อ แม่ หรือ ครู ก็ต้องมีหน้าที่ในการกำกับลูก หลาน เยาวชนของตนเองด้วย ผู้ชมสามารถกดรีพอร์ตแจ้งเจ้าของพื้นที่ได้ ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพ์ ฯ ก็มีเนื้อหาที่ครอบคลุมในการเอาผิดผู้กระทำผิดอยู่แล้ว ดังนั้น การมอบอำนาจให้แค่บางหน่วยงาน จึงไม่เหมาะกับพื้นที่ที่เสรีแบบนี้ สิ่งที่เป็นห่วงคือเพจเล็กที่เข้าข่ายที่ล่อแหลม ผิดกฎหมาย เช่น การพนัน ค้ายา มากกว่าที่มีปัญหา ว่าจะมีวิธีจัดการกับพวกเขาอย่างไร แต่การมารับฟังครั้งนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทำโอทีที ของกสทช.
ด้านสมเกียรติ จันทร์ดี ตัวแทนทีมเพจ 'อีจัน' เปิดเผยว่า ยังไม่เข้าใจว่าการที่กสทช. เรียกมาประชุมต้องการอะไร จะให้รับผิดชอบอะไร เดินไปทางไหน หรือทำอะไรร่วมกับเฟซบุ๊ก แต่ก็พร้อมจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ส่วนเพจอีจัน มีจุดยืนของการทำงานเกี่ยวกับข่าวชาวบ้าน และสร้างปรากฏการณ์ พยายามเป็นตัวแทนของกลุ่มที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหรือกลุ่มสูญเสีย มีทีมงาน 3-4 คน รวมทั้งตระหนักถึงสิ่งที่นำเสนอไปว่าจะมีผลกลับมาอย่างไร แต่จะไม่ไปสร้างอิทธิพลที่ล่อแหลม พยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ส่วนตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการควบคุม แต่ในฐานะนักสื่อสารมวลชนมีความตระหนักถึงการนำเสนออยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพจอีจันไม่มีถ้อยคำหยาบคาย เพราะเพจให้เกียรติคนทุกคน
ส่วนกระแสสังคมที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียล และมีการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ตัวแทนเพจอีจัน ระบุว่า ในฐานะคนทำคอนเทนต์ที่ดีต้องรับผิดชอบกับข่าวที่ออกมา แต่ยอมรับว่าไม่สามารถปิดกั้นคนเหล่านี้ได้ เพราะคนที่ทำเพจมีเป็นล้านคนผ่านอุปกรณ์หลายประเภท และเนื้อหามีทั้งที่กลั่นกรองผ่านการตรวจสอบแล้วและดราม่า เหมือนเทคโนโลยีก้าวนำการศึกษาไปไกลเลยทำให้เกิดช่องว่าง
***OTT ต่างประเทศว่าอย่างไร
พ.อ. นที กล่าวว่า ได้มีโอกาสร่วมงาน Connected TV World Summit ซึ่งเป็นการประชุมผู้ประกอบการโทรทัศน์ในยุโรป ได้มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์การรับชมโทรทัศน์ของประชาชนทั่วโลกพบว่า การรับชมโทรทัศน์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้รับชม มากกว่ารับชมเนื้อหาตามผังรายการที่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ได้กำหนดขึ้น และนิยมรับชมผ่านสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของผู้ประกอบการ OTT รายใหม่ เช่น Netflix และ Hulu Plus ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการโทรทัศน์รายเดิมมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับรายได้ของผู้ประกอบการ OTT ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ปัจจุบันผู้ประกอบการ OTT ในสหภาพยุโรปมีรายได้รวมกันประมาณ 5,000 ล้านยูโร และในสหรัฐมีรายได้ประมาณ 15,000 ล้านยูโร โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าธุรกิจ OTT จะมีรายได้รวมทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐทั้งสิ้น 35,000 ล้านยูโร โดยผู้ประกอบการโทรทัศน์ในยุโรปเริ่มมีการปรับตัวโดยปรับกลยุทธ์เพิ่มการให้บริการ OTT ที่แตกต่างกัน เช่น บีบีซี ซึ่งเป็นช่องสาธารณะของสหราชอาณาจักร ได้ให้บริการ iPlayer เพื่อให้รับชมรายการย้อนหลังได้ (Catch up TV) และ Sky ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกในสหราชอาณาจักร ได้ขยายการให้บริการสู่ธุรกิจ OTT ให้สามารถดูรายการสดได้เฉพาะในระบบ OTT และแบบดูย้อนหลัง แต่ต้องจ่ายค่าสมาชิก ส่วนช่อง เอบีซี ซึ่งเป็นฟรีทีวีในสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกับ Hulu Plus ให้บริการดูรายการย้อนหลังแต่ต้องจ่ายค่าสมาชิกรับชม
'ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและการเกิดขึ้นของ OTT เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการโทรทัศน์รายเดิมจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์ให้เท่าทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ ต้องมองหาโอกาสเพื่อขยายฐานผู้ชมและเพิ่มรายได้จากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่'