สมาพันธ์ทีวีดิจิตอล เสนอกรอบบริหาร OTT 4 ข้อ ย้ำอย่ากระทบทีวีดิจิตอลที่นำข้อมูลไปเสนอผ่าน OTT แนะอย่าเก็บเงินเพิ่ม และไม่ควรกำกับเนื้อหาซ้ำซ้อน ชี้คนที่ควรถูกกำกับ คือ OTT ต่างชาติ ควรจดทะเบียน และอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ส่วนความคืบหน้าให้บริการทีวีแบบบอกรับสมาชิกบนคลื่น 2600 MHz “เขมทัตต์” ลั่นพร้อมเต็มสูบ รอแค่ขั้นตอนของ กสทช.เท่านั้น
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวภายหลังการยื่นข้อเสนอแนวทางบริหาร OTT ต่อ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ OTT ว่า สมาพันธ์ฯ เสนอกรอบแนวทาง 4 ข้อ ได้แก่ 1.ควรให้ผู้ประกอบการ OTT สัญชาติต่างประเทศ ต้องจดทะเบียน และมีสถานที่ทำงานในประเทศไทย 2.ควรให้ผู้ประกอบ OTT ต่างประเทศอยู่ภายใต้กฎหมายไทย
3.ให้สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลทีวีที่มีใบอนุญาตจาก กสทช.ไม่ต้องนำรายได้ของ OTT มาผนวกกับรายได้ที่ต้องนำส่ง กสทช. รายปี และ 4.ให้เนื้อหาที่ผลิตโดยสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลทีวี สามารถออกอากาศผ่านระบบ OTT ของสถานี หรือ OTT ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาอีก และให้สามารถกำหนดช่วงเวลาการออกอากาศบน OTT ได้ตามความเหมาะสม
“ข้อเสนอนี้มาจากความกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่เกิดจากกิจการ OTT เมื่อ กสทช. ยืนยันว่า จะไม่มีการออกกฎเรียกเก็บรายได้ขึ้นมาอีก เราก็สบายใจที่จะไปรอให้บริการตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ส่วนประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคง ต้องพิจารณาถึงการนำเสนอเนื้อหาอย่างเหมาะสม ซึ่ง กสทช. ยืนยันว่า จะไม่มีการออกกฎหมายใหม่มาดูแล OTT กิจการ OTT เป็นกิจการที่สถานีแต่ละช่องจะสามารถทำได้ โดยสามารถให้บริการเอง หรือเปิดบริษัทลูกให้บริการได้ ส่วนนี้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถหารายได้จากช่องทางใหม่ เพื่อมาดูแลกิจการของแต่ละสถานี คิดว่า แนวทางดูแล OTT ของ กสทช.น่าจะออกเป็นกรอบแนวทางในการให้บริการมากกว่าจะมาทำให้สถานีทีวีดิจิตอลมีอุปสรรคในการให้บริการ”
นายเขมทัตต์ กล่าวว่า ภายในปีนี้สมาพันธ์ฯ จะมีการพูดคุยกันเพื่อหาความชัดเจนของราคากลางค่าโฆษณาทีวีดิจิตอล เพื่อสะท้อนให้เห็นสภาพตลาดทีวีดิจิตอลที่แท้จริงว่า รายได้แต่ละช่องที่เกิดขึ้น มาจากราคากลางที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่การตัดราคา เพื่อให้ตนเอง มีเรตติ้งสูง ส่งผลให้องค์กรวัดเรตติ้งนำข้อมูลไปวิเคราะห์สภาพตลาดผิดรูป ผิดร่าง เพราะไม่ได้สะท้อนต้นทุน และความเป็นจริงของรายได้โฆษณา
ด้าน พ.อ.นที กล่าวว่า การดำเนินงานของสำนักงาน กสทช.ในเรื่องบริการ OTT นอกจากจะไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล และอุตสาหกรรมโทรทัศน์โดยรวมแล้ว ยังเป็นการสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้เล่นรายเดิม และรายใหม่ โดยเชื่อมั่นว่า ภายใต้กฎระเบียบของ กสทช.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถนำมาปรับใช้กับบริการ OTT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที โดยข้อเสนอที่สมาพันธ์ฯ เสนอมานั้น ตนเองจะนำเข้าคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
***รอทดลองทีวีบอกรับสมาชิกคลื่น 2600 MHz
ส่วนความคืบหน้าหลังจากที่ กสทช.ได้มีมติให้ อสมท สามารถนำคลื่น 2600 MHz จำนวน 20 MHz จากที่มีทั้งหมด120 MHz เปิดให้บริการโทรทัศน์บนเทคโนโลยีแบบบรอดแบนด์ไร้สาย หรือ Broadband Wireless Access (BWA) หรือทีวีแบบบอกรับสมาชิกนั้น นายเขมทัตต์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอกระบวนการทางเอกสารต่างๆ จาก กสทช. ซึ่ง กสทช.มีกระบวนการทำงานแบบเป็นขั้นเป็นตอน เมื่อได้ความชัดเจนแล้ว ก็จะเริ่มทดลองให้บริการ คาดว่าจะใช้เวลาไม่กี่เดือนก็สามารถเปิดให้บริการจริงได้ เพราะ อสมท มีความพร้อมอยู่แล้ว โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องรอการนำเข้าอุปกรณ์บางส่วน และประชุมหารือร่วมกับบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาด้านการตลาดกับ อสมท ถึงแผนธุรกิจ และการเริ่มให้บริการ โดยจะเห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรมภายใน 2-3 เดือนนับจากนี้ สำหรับจำนวนคลื่นที่เหลือที่ กสทช.จะเรียกคืนเพื่อนำไปประมูลสำหรับให้บริการด้านโทรคมนาคมนั้น ตนเอง กับ กสทช.ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ และยังไม่ได้ประเมินตัวเลขเงินค่าเยียวยาคลื่นว่า จะเป็นจำนวนเท่าไหร่