xs
xsm
sm
md
lg

โฟกัสในทางที่ใช่ สูตรทำตลาดไมโครซอฟท์-โนเกีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ซานดีพ กัพทา ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาค HMD Global เปิดเผยถึงแนวทางในการทำตลาดของโนเกีย
การกลับมาเปิดตลาดสมาร์ทโฟนตั้งแต่ช่วงต้นปีของโนเกีย ภายใต้ HMD Global หลังจากที่ไมโครซอฟท์ เลิกทำตลาดสมาร์ทโฟน Microsoft Lumia ไปในช่วงปีที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทั้ง 2 บริษัทที่จะเดินหน้าต่อไปในแนวทางที่ใช่ บนพื้นฐานของการตอบโจทย์ใช้งานของผู้บริโภค

ด้วยแนวทางในการโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้ในวันนี้ทั้งไมโครซอฟท์ และโนเกีย ต่างกลับโฟกัสกลุ่มลูกค้าเฉพาะ ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้ ในยุคที่ดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

โนเกียในยุคของ HMD กลับมามองว่า ตนเองเป็นเหมือนบริษัทสตาร์ทอัปที่มีไอเดีย มีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตลาด และใช้ความเร็วในการทำงาน ของบริษัทยุคใหม่มาทำตลาดในประเทศไทย ที่ถือเป็นตลาดสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดังจะเห็นได้จากช่วงเวลาในการนำ Nokia 8 เข้ามาพร้อมขายในวันที่ 29 สิงหาคม 2017 หลังจากเปิดตัวในต่างประเทศเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หรือใช้ระยะเวลาในการนำเข้ามาจำหน่ายราว 2 สัปดาห์เท่านั้น

ขณะที่ไมโครซอฟท์ ก็กลับมาโฟกัสในตลาดดีไวซ์ที่ถนัด และเห็นแนวโน้มที่เติบโตชัดเจนอย่าง Surface แม้ว่าในช่วงแรกที่ทำตลาด ไมโครซอฟท์จะดูกล้า ๆ กลัว ๆ ในการนำเข้ามาจำหน่ายช่วงแรก ทั้งกลัวแบรนด์สินค้าไอทีที่มองว่าจะมาแย่งตลาด และกลัวว่า ลูกค้าจะไม่ยอมรับ แต่ช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ถือว่าพิสูจน์แล้วว่า การนำ Surface เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้ใช้งานเสมอมา และเชื่อว่ามีแนวโน้มที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าองค์กร

***โนเกียกับพันธมิตรคู่บุญ ZEISS

ในมุมของโนเกีย เป้าหมายที่วางไว้ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า คือ การกลับมาเป็น 1 ใน 3 ผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนภายในประเทศไทยให้ได้ จากทีมงานของ HMD Global ที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนโนเกียเดิมก่อนขายส่วนธุรกิจมือถือให้แก่ไมโครซอฟท์ไป

โดยแนวทางในการทำธุรกิจหลัก ๆ ของโนเกียในรอบนี้แสดงให้เห็นความร่วมมือกับกูเกิล (Google) ในการนำระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) มาใช้งานแบบไม่ปรับแต่งใด ๆ เพื่อให้เป็น Pure Android ที่มีความลื่นไหล และใช้งานง่ายเดิมอยู่แล้ว มาผสมผสานกับเทคโนโลยีของโนเกีย ที่ร่วมมือกับพันธมิตรไม่ว่าจะเป็น Qualcomm ในการนำชิปเซ็ตประสิทธิภาพสูงมาใช้งาน ZEISS ที่ผลิตเลนส์กล้อง และอยู่คู่กับโนเกียมาอย่างยาวนาน มาเป็นจุดขายในเครื่องระดับไฮเอนด์

จนกลายเป็นจุดเด่นของ Nokia 8 ที่แม้จะไม่ได้สื่อสารมากนักว่าเป็นกล้องคู่สี RGB และขาวดำ เพื่อช่วยให้เก็บรายละเอียดภาพได้ดีขึ้นทั้งภาพสี และขาวดำ แต่จะเน้นสื่อว่าเป็นเลนส์ ZEISS แทน เพราะเชื่อว่ายังมีผู้บริโภคที่มั่นใจกับเลนส์ของ ZEISS

นอกจากนี้ ก็ยังมีการทำงานร่วมกับเฟซบุ๊ก รวมถึงยูทูป ที่เชื่อมต่อระบบกับกล้องในการไลฟ์แบบ Bothie (ถ่ายวิดีโอจากกล้องหน้า-หลังพร้อมกัน) โดยไม่ต้องเข้าไปไลฟ์ผ่านแอปพลิเคชันของทั้ง 2 แพลตฟอร์ม ทำให้เพิ่มความสะดวกให้แก่พฤติกรรมของวัยรุ่นยุคใหม่ที่ชอบไลฟ์

ขณะเดียวกัน โนเกียก็ไม่ได้ทิ้งฐานลูกค้าในกลุ่มเอนทรีเลเวล เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการเปิดตัว และวางจำหน่าย Nokia 3 Nokia 5 และ Nokia 6 ไปตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เมื่อประกอบกับ Nokia 8 ที่เพิ่งเปิดตัว ทำให้ไลน์สินค้าของโนเกีย ครอบคลุมตั้งแต่ 4,850 บาทไปจนถึง 19,500 บาท

***จับศิลปิน-ดารา เรียกความทรงจำ

ซานดีพ กัพทา ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาค HMD Global เปิดเผยถึงแนวทางในการทำตลาดของโนเกีย ในการที่จะกลับมาอยู่ในกลุ่มผู้นำสมาร์ทโฟนได้นั้น ต้องมีการนำนวัตกรรมที่แปลกใหม่ และไม่เหมือนใครมาช่วยขับเคลื่อน เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้ใช้งานรู้สึกถึงความต่าง

ประกอบกับการที่ชื่อแบรนด์ของโนเกีย ก็ยังติดตลาดอยู่ ที่ต้องทำจึงเป็นการปลุกฐานแฟนที่ใช้งานขึ้นมา เพื่อให้รับรู้ว่า โนเกียกลับมาแล้ว และพร้อมที่จะเป็นสมาร์ทโฟนที่อยู่คู่กับไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิทัลของผู้บริโภค

“ในช่วงเดือนที่ผ่านมา โนเกียมีการใช้ศิลปิน ดารา มาช่วยกันนำเมโลดีเสียงเรียกเข้าของโนเกีย ที่เป็นเอกลักษณ์มาถ่ายทอดในแต่ละสไตล์ของศิลปิน ผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อให้เกิดกระแสการรับรู้ก่อน และจะมีการทำตลาดต่อเนื่องไปในอนาคต”

หลังจากนี้ เมื่อ Nokia 8 ออกสู่ตลาดได้ในระดับหนึ่ง โนเกียก็จะมีการจัดแคมเปญในการแนะนำ Bothie ต่อ ที่ถือเป็นแคมเปญในระดับโลก ด้วยการนำศิลปินที่มีชื่อเสียงมาใช้งานในการไลฟ์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นทั้งคนไลฟ์ และบรรยากาศรอบข้าง

ความหวังของโนเกียในเวลานี้ จึงขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมการไลฟ์ กับสมาร์ทโฟนที่ออกมา จะกลายเป็นกระแสที่ทำให้โนเกียกลับมาได้หรือไม่

***ไมโครซอฟท์ จับองค์กรธุรกิจ

กลับมามองในมุมของไมโครซอฟท์ จากข้อมูลล่าสุดที่วิสสุต เมธีสุวกุล ผู้จัดการอาวุโสผลิตภัณฑ์ออฟฟิศ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขายของ Surface Pro ในช่วงปีที่ผ่านมา ถือว่ามีอัตราการเติบโตที่เกินความคาดหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มขององค์กรธุรกิจ ในปีที่ผ่านมา ที่เติบโตกว่า 50%

“ปีปฏิทินของไมโครซอฟท์จะเริ่มที่ต้นเดือนกรกฎาคมไปจบที่สิ้นเดือนมิถุนายน ถ้านับตามรอบดังกล่าวปีที่แล้วมา Surface Pro มียอดขายเติบโตในระดับ 50% ทั้งตลาดคอนซูเมอร์ และองค์กร แต่ถ้านับตามปีปฏิทินปกติ จะเป็นตลาดองค์กรที่มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่า”

เมื่อเห็นทิศทางที่ชัดเจน สิ่งที่ไมโครซอฟท์ทำ คือ การลงทุน ซึ่งรูปแบบของการลงทุนในที่นี้ คือ การเข้าไปเสริมบริการในส่วนของดีไวซ์ให้แก่องค์กรธุรกิจที่จะนำผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นบริการหลังการขายที่สามารถซื้อเพิ่มได้ มีการนำโซลูชันไอทีของไมโครซอฟท์ นำเสนอไปพร้อมกัน

ทาเทียน่า มารัชเชฟสกาย่า ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ระบุว่า ไมโครซอฟท์เห็นถึงแนวโน้มของทุกอุตสาหกรรมที่จะมีการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันทั่วโลก ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านเร็วแค่ไหน ซึ่งในประเทศไทยถือว่าองค์กรธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

ในไทยกลุ่มองค์กรธุรกิจในภาคการเงิน การธนาคาร ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการลุกขึ้นมาปรับภาพของทั้งองค์กรให้รับกับโลกดิจิทัล ด้วยการนำเสนอแนวคิดใหม่ในการให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

“เมื่อองค์กรมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่องค์กรต้องการ คือ เครื่องมือ ที่จะเข้าไปช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ Surface Pro ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาตอบโจทย์ในจุดนี้ จากการที่เป็นทั้งแท็บเล็ต สามารถเชื่อมต่อกับฐานคีย์บอร์ดเพื่อใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กได้'

ที่สำคัญ คือ ด้วย Office 365 ทำให้การทำงานในองค์กรธุรกิจสามารถเชื่อมต่อเข้าหากันได้ ทุกการทำงานสามารถแชร์ไฟล์เพื่อเข้าไปแก้ไขร่วมกัน รวมถึงการที่ไมโครซอฟท์มีระบบคลาวด์ และโซลูชันอื่น ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการขององค์กรได้ จึงส่งผลให้หลายองค์กรเลือกใช้
วิสสุต เมธีสุวกุล ผู้จัดการอาวุโสผลิตภัณฑ์ออฟฟิศ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

***ปรับโครงสร้างธุรกิจดีไวซ์

อีกหนึ่งความน่าสนใจของไมโครซอฟท์ต่อการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่เลิกทำตลาดสมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์ Microsoft Lumia ก็คือ การปรับโครงสร้างขององค์กร ที่มีการปรับส่วนของหน่วยธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์ ที่จากเดิมมีเอกราช ปัญจวีณิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารสินค้าคอนซูเมอร์ ไปดูแลในส่วนอื่นแทน

พร้อมกับการที่นายรชฎ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้จัดการอาวุโสกลุ่มธุรกิจ และการตลาดวินโดวส์และ Surface ลาออกจากตำแหน่งไปทำธุรกิจส่วนตัว จึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของไมโครซอฟท์ ที่จะเดินหน้าธุรกิจดีไวซ์ต่อเนื่อง ทำให้ต้องรอดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ ในยุคของธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เพราะจากเดิม ช่องทางการทำตลาดของไมโครซอฟท์ ในส่วนของธุรกิจคอนซูเมอร์ จะผูกอยู่กับหน้าร้านไอทีรายใหญ่อย่างไอทีซิตี้ และบานาน่า ไอที ส่วนลูกค้าองค์กรก็จะทำตลาดผ่านพาร์ตเนอร์ที่เข้าไปเสนอโซลูชันแบบครบวงจรให้แก่ลูกค้า

แต่ที่เห็นได้ชัด ๆ เลย คือ ทิศทางที่ไมโครซอฟท์โฟกัสของ Surface Pro ในเวลานี้ คือ ตลาดองค์กรธุรกิจ ที่เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล.


กำลังโหลดความคิดเห็น