“อยากให้คนไทยมีชุดโปรแกรมสำนักงานของไทย ที่สามารถปรับแต่งให้เหมาะกับการใช้งานในประเทศได้ ถือเป็นการทำเพื่อช่วยชาติครั้งหนึ่งในชีวิต” พงศ์พรหม ยามะรัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานตลาด บริษัท ไทย ดับเบิ้ลยูพีเอส จำกัด กล่าวประโยคง่าย ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ และมุ่งมั่นในการทำชุดโปรแกรม “ThaiWPS”
ที่ผ่านมา การใช้งานชุดโปรแกรมสำนักงาน หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะได้แต่เป็นผู้ใช้ แต่ไม่ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนได้ใช้งาน หรือเข้าถึงได้อย่างสะดวก ซึ่งถ้าไทยยังไม่เริ่มสร้างอีโคซิสเตมส์ดังกล่าว สุดท้ายแล้ว ประเทศไทยก็จะไม่สามารถก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มตัว
พงศ์พรหม แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่น่าสนใจในฝั่งของภาคเอกชน ที่จะเข้าไปสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้ก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการเริ่มสร้างอีโคซิสเตมส์ที่เหมาะสมกับทุกภาคส่วน รองรับการพัฒนาต่อยอดไปในอนาคต ที่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง
หลังจากนั้นไม่นาน แนวคิดของการนำชุดโปรแกรม ThaiWPS เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จากการเข้าไปเจรจากับทาง ดับเบิ้ลยูพีเอส คอร์ปอเรชั่น (WPS Corporation) ในเครือบริษัท คิงซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่จากจีน
“การเข้าไปคุยกับทางคิงซอฟท์ ไม่ใช่เข้าไปคุยแค่ว่าจะเป็นตัวแทนนำชุดโปรแกรมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย แต่ลงรายละเอียดไปถึงการนำเข้ามาทำตลาดในไทย พร้อมกับการปรับแต่งชุดโปรแกรมให้เหมาะสมกับการใช้งานของลูกค้าทั้งภาครัฐ และเอกชน”
เมื่อตกลงรายละเอียดเรียบร้อย ไทย ดับเบิ้ลยูพีเอส จึงเริ่มนำชุดโปรแกรมสำนักงาน ในส่วนของงานด้านเอกสาร (Writer) การคำนวน (Spreadsheet) และนำเสนอ (Presentation) มาเปิดให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้งานในช่วงเดือนพฤษภาคม (Beta) และเริ่มให้บริการชุดโปรแกรมสำนักงานตัวจริงเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา
***ปีนี้เน้นสร้างความเชื่อมั่น-เพิ่มดีลเลอร์
ในแง่ของการทำตลาด Thai WPS จะแบ่งการทำตลาดออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน เริ่มต้นจากช่วงแรกจะเน้นการเพิ่มพันธมิตรทางการค้า (Dealer) เพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางทำตลาดของ Thai WPS ให้ชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการเข้ามาเพียงจำหน่ายชุดโปรแกรมเพียงอย่างเดียว แต่สามารถประยุกต์ และพัฒนาเพิ่มเติมได้ตามความต้องการของลูกค้า
“ในช่วงแรกจะเริ่มจากการนำชุดโปรแกรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในราคาที่ใช่ เข้าไปแนะนำให้กับหน่วยงานราชการ หรือเอกชนที่มีความสนใจ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้โปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์เดิมอยู่ให้หันมาใช้โปรแกรมมีลิขสิทธิ์มากขึ้น”
ปัจจุบัน จำนวนลูกค้าที่ใช้งานชุดโปรแกรมสำนักงานในประเทศไทยมีอยู่ราว 25-28 ล้านราย แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 25% เท่านั้นที่ใช้ชุดโปรแกรมแบบมีลิขสิทธิ์ เป้าหมายของ Thai WPS คือเข้าไปเก็บในช่องว่าง 75% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสามารถเข้าไปในฐานดังกล่าวได้ราว 30%
ในเฟสถัดมา คือ จะเริ่มทยอยเข้าไปจำหน่ายในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงองค์กรธุรกิจขนาดกลางและย่อย ที่มีความจำเป็นในการใช้งานโปรแกรมชุดสำนักงาน แต่ไม่ต้องการชุดโปรแกรมราคาสูง
ในมุมของพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมด้วย Thai WPS จะเน้นไปที่การช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ติดตั้งระบบ (SI) ซึ่งถ้าหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนเดิม ที่มี SI เจ้าเดิมให้บริการอยู่แล้ว ทาง Thai WPS ก็ให้ทางทีม SI เข้ามาประสานงานไปติดตั้งแทน ไม่ได้เข้าไปแย่งงานทีมเดิม
ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าได้รับการซัปพอร์ตการใช้งานที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบริการหลังการขาย ระบบคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นพนักงานคนไทย สามารถพูดคุย สอบถามการใช้งานได้ตลอดเวลา โดยลูกค้าที่เช่าใช้ก็จะได้รับระยะการรับประกัน และอัปเดตซอฟต์แวร์ตลอดอายุการใช้งาน
ส่วนลูกค้าที่ซื้อเป็นชุดโปรแกรม Thai WPS แบบซื้อขาด จะได้รับการรับประกัน 3 ปี โดยในช่วง 3 ปีก็จะได้รับการอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในกรณีที่มีเวอร์ชันใหม่ออกมาจำหน่าย ที่ปกติจะอัปเดตทุก ๆ 3 ปี
โดยตามแผนที่วางไว้ ในปีนี้จะเน้นไปที่การแนะนำชุดโปรแกรม พร้อมเปิดให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นำไปทดสอบใช้งานกับระบบเดิมที่ใช้อยู่ก่อน รวมทำการเทสระบบว่า ถ้าเปลี่ยนมาใช้ Thai WPS จะเกิดปัญหาในการใช้งานหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา หลาย ๆ องค์กรที่เข้าไปทดสอบก็พร้อมที่จะเปลี่ยนมาใช้งาน
***ลุยตลาดเต็มที่ต้นปี 2561
จากนั้น ในช่วงต้นปี 2561 Thai WPS จะเริ่มรุกตลาดคอนซูเมอร์มากขึ้น หรือการเข้าสู่เฟส 3 ซึ่งจะเริ่มนำระบบคลาวด์ในการจัดเก็บเอกสารมาใช้งานร่วมด้วย ทำให้ไม่ต้องเสียแบนด์วิดท์ในการส่งต่อข้อมูลออกนอกประเทศ ซึ่งปัจจุบันในแต่ละปี ไมโครซอฟท์ใช้งานแบนด์วิดท์ในส่วนนี้ไปไม่ต่ำกว่าปีละ 500 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ในแง่ของความปลอดภัยก็จะสูงขึ้น จากการที่เก็บข้อมูลอยู่ภายในประเทศ
“โมเดลในการให้บริการคลาวด์ที่จะเกิดขึ้น คือ Thai WPS จะไปจับมือกับ กสท และ ไอเน็ต ที่เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศ เพื่อมาให้บริการในส่วนนี้ หรือถ้าลูกค้ามีคลาวด์แบบไพรเวตใช้งานเดิมอยู่แล้ว ก็สามารถปรับแต่งให้ใช้งานร่วมกันได้ทันที”
แน่นอนว่า เมื่อเริ่มให้บริการคลาวด์ รูปแบบการให้บริการอาจจะเปลี่ยนไปจากเดิม Thai WPS จะจำหน่ายชุดโปรแกรมสำนักงานแบบเช่าใช้รายปีที่ 1,200 บาท และแบบซื้อขาดที่ 5,250 บาท แต่ในอนาคตก็อาจจะมีการแยกจำหน่ายเฉพาะรายโปรแกรม เพื่อให้ค่าใช้งานถูกขึ้นก็เป็นไปได้
***วางเป้าเปิดศูนย์นักพัฒนาที่เชียงใหม่
สำหรับเป้าหมายในระยะยาวของ Thai WPS คือ การดึงผู้ประกอบการซอฟต์แวร์จากจีน อย่างคิงซอฟท์ ให้เข้ามาตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ร่วมกันในประเทศไทย ถือเป็นการดึงเงินลงทุนจากนักลงทุนชาวจีนให้เข้ามาตั้งบริษัทในไทย
เพียงแต่ว่า ถ้าเป็นในมุมของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เชื่อว่าพื้นที่ที่เหมาะสมน่าจะอยู่ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ซึ่งจะเป็นเฟสถัด ๆ ไป ต่อจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่จะเหมาะกับการลงทุนทางด้านลอจิสติกส์มากกว่า
“ที่ผ่านมา Thai WPS ได้ร่วมเชิญชวนให้นักลงทุนจากจีนที่มีความสนใจเข้ามาพูดคุยกับรัฐบาลเรื่อยมา ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในระหว่างการศึกษาขั้นตอนการลงทุนให้ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศในทุกภาคส่วน”
15 จุดเด่นบน Thai WPS ชุดโปรแกรมสำนักงานสำหรับคนไทย
เหตุผลหลักที่ Thai WPS ถูกวางตัวให้กลายเป็นชุดโปรแกรมสำนักงานของคนไทย คือ มีการนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เข้ากับรูปแบบและวิธีการใช้งานของคนไทย ทั้งในแง่ของภาษา ความสะดวกในการใช้งาน และที่สำคัญ คือ รองรับการใช้งานบนเอกสารราชการด้วย
1. ชุดโปรแกรมรองรับการทำงานบนตั้งแต่ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ XP บนสเปกคอมพิวเตอร์ที่ใช้หน่วยประมวลผลตั้งแต่ Pentium 2 RAM 128 MB และใช้พื้นที่เก็บข้อมูลไม่เกิน 200 MB
2. ทำงานร่วมกับเอกสารจาก Microsoft Office ตั้งแต่ปี 2003-2013 ได้สมบูรณ์แบบ รวมถึงไฟล์นามสกุล .docx .pptx .xlsx นอกจากนี้ ถ้าเซฟไฟล์เป็นไฟล์นามสกุล .wps จะประหยัดพื้นที่ลง 50%
3. อินเทอร์เฟสในการใช้งาน Thai WPS จะใกล้เคียงกับ Word Excel และ Powerpoint เวอร์ชันปี 2013 แต่มีการปรับแถบควบคุมใหม่ไม่ให้มีการย่อ หรือจับกลุ่มรวมกันทำให้หาเครื่องมือที่คุ้นเคยไม่เจอ
4. ขนาดของไฟล์ในการลงชุดโปรแกรมอยู่ที่ 57 MB เนื่องจากตัดภาษาในการแสดงผลออกเหลือแค่อังกฤษ และไทย ที่สามารถกดสลับได้ทันทีที่มุมขวาบนของหน้าจอ แต่ยังรองรับการพิมพ์ข้อความทุกภาษา
5. มีการเพิ่มฟอนต์ที่หน่วยงานราชการอย่าง สรอ. และ ดีป้า กำหนดไว้ 13 ฟอนต์ที่รองรับการอัปเดตเพิ่มเติมอัตโนมัติ เพื่อให้รองรับการพิมพ์เอกสารราชการ
6. การอัปเดตชุดโปรแกรมสามารถทำได้ทั้งการดาวน์โหลดอัตโนมัติผ่านอินเทอร์เน็ต รวมถึงนำไฟล์อัปเดตไปลงในเครื่องที่ไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ด้วย
7. ด้วยการที่มีนักพัฒนาชาวไทยดูแลโดยเฉพาะ ทำให้สามารถทำหน้าเอกสารราชการ (Template) สำหรับใช้งานในหน่วยงานราชการโดยเฉพาะ ทั้งการกำหนดระยะขอบกระดาษ ในตราครุฑในเอกสาร
8. ในโปรแกรม Writer รองรับการอ่านไฟล์ PDF โดยไม่ต้องลงโปรแกรมเพิ่ม และในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถแปลงเอกสาร PDF เป็นไฟล์เอกสารเพื่อแก้ไขได้
9. มีการเพิ่มฟีเจอร์อย่าง แก้ไขต่อเนื่อง (Continue Editing) ทำให้เวลาเปิดเอกสารเดิมที่แก้ไขล่าสุด จะมีข้อความขึ้นมาถามว่า ต้องการกลับไปจุดที่แก้ไขล่าสุดหรือไม่ เพื่อให้ทำงานต่อเนื่องได้ทันที
10. สามารถปรับหน้ากระดาษให้เป็นแนวตั้ง-แนวนอน เฉพาะหน้าได้ โดยไม่ต้องใส่ตัวคั่นหน้า รวมถึงการปรับเลเอาต์ข้อความในแต่ละพารากราฟได้สะดวกขึ้น
11. ในโปรแกรม Spreadsheet สามารถสั่งเพิ่มหน้าได้ตามจำนวนที่ต้องการ ไม่ต้องกดเพิ่มทีละหน้า กรณีสั่งพิมพ์ข้อมูล สามารถเลือกเฉพาะช่องที่ต้องการแบบแยกเป็นหลาย ๆ ชุดในเอกสารได้ทันที
12. มีการเพิ่มโหมดช่วยถนอมสายตา (ปรับโทนสีแสดงผลเป็นสีเขียว) และลดความสว่างหน้าจอในการใช้งานตอนกลางคืน รวมถึงการไฮไลต์ช่องข้อความให้อ่านง่ายขึ้น
13. มีการเพิ่มชุดคำสั่งอย่างการตรวจหาข้อมูลซ้ำ จัดเรียงข้อมูลที่เหมือนกัน พร้อมระบบแจ้งเตือนเมื่อป้อนชุดข้อมูลซ้ำ มาให้กดใช้งานโดยไม่ต้องใส่สูตรเพิ่มเอง
14. ในโปรแกรม Presentation ผู้ใช้สามารถดับเบิลคลิ๊กหน้าที่ต้องการแสดงผลเพื่อขึ้นสไลด์ได้ทันที พร้อมการเพิ่มชุดคำสั่งแอนิเมชันให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น
15. เพิ่มฟีเจอร์ในการจัดเรียงหน้าสไลด์สำหรับใช้งานได้บนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือขนาดหน้าจอต่าง ๆ ได้แบบอัตโนมัติ