xs
xsm
sm
md
lg

อูเบอร์ไม่ยอมกำไร แม้จะมีรายได้อู้ฟู่ 1.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อูเบอร์ (Uber) บริการ Ride-Sharing จากสหรัฐอเมริกา เปิดตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว พบมีรายได้อยู่ที่ 1.75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ผลประกอบการโดยรวมยังเป็นตัวเลขขาดทุนที่ 645 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็พบตัวเลขการเติบโตเชิงบวก นั่นคือ ยอดการเรียกใช้งานที่เพิ่มขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่อูเบอร์ ประเทศไทยเผชิญความท้าทายในการให้บริการว่าจะออกหัวหรือออกก้อยอยู่นั้น อูเบอร์จากสหรัฐอเมริกาก็ผ่านสถานการณ์โหดร้ายในไตรมาส 2 ของปีมาได้อย่างสวยงาม ด้วยการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ที่มียอดทริปการเดินทางในระดับโกลบอลที่เพิ่มขึ้น 150 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดการจองรถสุทธิแตะ 8.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 17 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2016

ในด้านผลประกอบการพบว่า รายได้ของอูเบอร์ในไตรมาสที่สองของปี 2016 นั้น อยู่ที่ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ปีปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1.75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนสถานะทางการเงินของบริษัทก็ถือว่าแข็งแกร่งมากอยู่ โดยเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 บริษัทมีเงินอยู่ในมือ 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากยอดเงินที่มีเมื่อไตรมาสแรกที่ 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับอูเบอร์นั้น อาจเป็นเรื่องของทิป โดยหลังจากเปิดให้ผู้นั่งสามารถให้ทิปคนขับได้แล้ว อูเบอร์พบว่ามียอดทิปเข้ามาในระบบสูงถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในระยะเวลาการให้บริการเพียง 1 เดือนเท่านั้น (ระบบให้ทิปเปิดตัวแบบโกลบอลเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม)

อย่างไรก็ดี ไตรมาสนี้อูเบอร์ก็ยังขาดทุนที่ 645 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยไตรมาสสองนั้น ถือว่าเป็นช่วงที่อูเบอร์เผชิญปัญหาด้านภาพลักษณ์อย่างหนัก จากกรณีที่หัวหน้างานมีการล่วงละเมิดพนักงานหญิงรายหนึ่งอย่างรุนแรง และความเพิกเฉยของพนักงาน HR รวมถึงผู้บริหารระดับสูงที่ไม่จัดการกับปัญหาเหล่านั้น จนกลายเป็นกระแสประท้วงอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การลาออกของซีอีโออย่างทราวิส คาลานิก ที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในเวลาต่อมา

หลายสำนักข่าวรายงานว่า เขาถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งโดยนักลงทุนรายใหญ่บางคน รวมถึงมีการตบเท้าลาออกของผู้บริหารระดับสูงอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้วันนี้สตาร์ทอัปมูลค่า 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แห่งนี้กำลังก้าวต่อไปโดยไม่มีแม้กระทั่งซีอีโอ, CFO, COO

ความท้าทายของอูเบอร์ในไตรมาสที่สามของปี จึงเป็นการรับมือกับการแข่งขันที่มาจากคู่แข่งต่าง ๆ รอบโลก ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเปิดตัวบริการในลักษณะคล้ายกับอูเบอร์ออกมามากมาย รวมถึงการต่อสู้ด้านคดีความที่มีกับบริษัทเวย์โม (Waymo) ที่รุนแรงไม่แพ้กัน เพราะเวย์โม กล่าวหาว่า อูเบอร์มีการลักลอบนำระบบของเวย์โม มาใช้ในการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับของทางบริษัทอยู่นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น