xs
xsm
sm
md
lg

อูเบอร์พบวิกฤตในเอเชีย หลังคู่แข่งเพิ่มทุนกันเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำหรับแนวคิด Sharing Economy ที่ฟังดูสวยหรู แต่เส้นทางของธุรกิจที่ดำเนินกิจการภายใต้ Sharing Economy อย่างอูเบอร์ (Uber) ดูท่าจะไม่สวยหรูเสียแล้ว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่อูเบอร์เจอคู่แข่งเจ้าถิ่นในแทบทุกตลาดที่เข้าไปเปิดให้บริการ หรือมิเช่นนั้น ก็เจอกับข้อกฎหมายที่ยากจะแก้ไขได้

ที่สำคัญ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คู่แข่งของอูเบอร์หลายรายได้รับเงินลงทุนเพิ่ม เช่น ค่ายแกร็บ (Grab) ที่ได้รับเงินลงทุนเพิ่มจาก ตีตี ชูสิง (Didi Chuxing) Ride-Sharing เบอร์หนึ่งของตลาดจีน และซอฟต์แบงค์ (SoftBank) จากญี่ปุ่นมาหมาด ๆ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 66,560 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังคาดว่า แกร็บจะได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนรายอื่นอีกประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้บริษัทอาจมีมูลค่าถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกลายเป็นเทคสตาร์ทอัปที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เลย

ขณะที่ โก-เจ็ก (Go-Jek) ผู้ให้บริการแนวเดียวกับแกร็บ และอูเบอร์ ก็เพิ่งได้รับเงินลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง “เทนเซ็นต์” (Tencent) มาเช่นกัน (รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า ได้รับเงินลงทุน 100-150 ล้านเหรียญสหรัฐ)

นอกจากนั้น ในประเทศไทยเองก็มีการจับมือระหว่างเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานคร กับบริษัท LINE ประเทศไทย ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน LINE TAXI ขึ้นอย่างเป็นทางการเช่นกัน ซึ่งหากแอปพลิเคชันนี้พัฒนาเสร็จตามกำหนด (เดือนพฤศจิกายนนี้) ก็อาจส่งผลต่ออูเบอร์ที่อยู่ในไทยในฐานะบริษัทเทคโนโลยีได้ไม่น้อย

ไม่เฉพาะสถานการณ์ในตลาดโลกที่เจอคู่แข่งมากมาย สถานการณ์ของอูเบอร์ในประเทศแม่อย่างสหรัฐอเมริกา ก็ค่อนข้างหนักหนาสาหัส ทั้งการลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ ทราวิส คาลานิก (Travis Kalanick) ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน และปัญหาการเหยียดเพศ ฯลฯ ที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของอูเบอร์อย่างจัง ร่วมกับปัญหาด้านคดีความที่บริษัทเวย์โม (Waymo) หน่วยงานผู้ดูแลเทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติในเครืออัลฟาเบ็ท (Alphabet) กำลังดำเนินการฟ้องร้องว่า อูเบอร์มีการใช้เทคโนโลยีของเวย์โม ในการพัฒนารถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับของตนเอง

คริส โจนส์ นักวิเคราะห์จากคานาลิส (Canalys) ให้ความเห็นว่า “อูเบอร์อยู่ในภาวะที่ต้องกลับมาแข็งแกร่งให้ได้โดยไว พวกเขาต้องการลีดเดอร์คนใหม่ที่มีความสามารถสูง เนื่องจากในตอนนี้คู่แข่งอย่างลิฟต์ (Lyft) กำลังได้เปรียบ และเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น และคู่แข่งของอูเบอร์ในตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกก็กำลังทำเช่นเดียวกัน”
ภาพจาก AP
โดยหลังจากการถอนตัวออกจากตลากจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยการขายกิจการให้ ตีตี ชูสิง อูเบอร์ก็หันมารุกหนักในตลาดอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางบริษัทได้ประกาศแผนจะบุกตลาดกัมพูชา หลังจากที่ไปเปิดตัวที่เมียนมามาเมื่อไม่นานมานี้ด้วย

แอนดรูว์ แมคโดนัลด์ (Andrew Macdonald) ผู้จัดการทั่วไปของอูเบอร์ในภูมิภาคละตินอเมริกา และเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่สำคัญมากของอูเบอร์ เนื่องจากเราได้มีการลงทุนด้านนวัตกรรมอย่างมากในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ อูเบอร์ยังมีแผนระยะยาวที่จะบุกตลาดเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ก้าวย่างต่อไปของอูเบอร์ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาบริการที่ตรงใจลูกค้ากลุ่มหลักของบริษัทให้ได้มากที่สุด ซึ่งอูเบอร์ ระบุว่า คือ กลุ่มมิลเลนเนียล ที่เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพื่อให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ในกลุ่มเป้าหมายยังอยู่ในเกณฑ์ดี ท่ามกลางการแข่งขันจากคู่แข่งท้องถิ่นที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น