รอยเตอร์ - ความต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเยาวชนกลายเป็นสาเหตุหลักของปัญหาการค้ามนุษย์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยพบว่าธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อมีเซ็กซ์กับเด็กผ่านเว็บแคม (child sex webcam) เริ่มย้ายศูนย์กลางจากฟิลิปปินส์มายังไทย รายงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยวันนี้ (10 ส.ค.)
เดียนนา เดวี ที่ปรึกษาวิจัยอาวุโสจากสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปราบอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้เผยแพร่รายงานว่าด้วยปัญหาการค้ามนุษย์ฉบับใหม่ที่กรุงเทพมหานครวันนี้ (10) โดยระบุว่า ปัญหาดังกล่าวกำลังทวีความรุนแรงขึ้น และอุปสงค์การซื้อทัวร์เพื่อเล่นเซ็กซ์กับเด็กผ่านเว็บแคมก็ “พุ่งแซงหน้าอุปทานไปมาก”
ไทยถือเป็นศูนย์กลางการค้ามนุษย์ในภูมิภาค โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีทั้งชาย หญิง และเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนกว่า เช่น กัมพูชา และพม่า
จากการตรวจสอบโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนและสื่อพบว่า แรงงานต่างด้าวจำนวนมากถูกบังคับให้ทำงานในธุรกิจค้าประเวณี และอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานตรากตรำ เช่น ประมง ก่อสร้าง และเกษตรกรรม และคนเหล่านี้มักเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด
จากสถิติของรัฐบาลในปี 2015 พบว่ามีคนต่างด้าวอาศัยอยู่ในประเทศไทยราว 4 ล้านคน ซึ่ง UNODC ประเมินว่าระหว่าง 4-23% เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
เจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาค อ้างข่าวกรองล่าสุดซึ่งระบุว่า ทัวร์ล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านเว็บแคมได้ย้ายศูนย์กลางจากฟิลิปปินส์มายังไทย หลังรัฐบาลมะนิลาลงมือปราบปรามธุรกิจมืดนี้อย่างจริงจัง
“ก่อนหน้านี้ศูนย์กลางอยู่ที่ฟิลิปปินส์ แต่จากการสัมภาษณ์ในระยะหลังๆ เราพบว่ามันเริ่มย้ายมาที่นี่ และมีข่าวกรองยืนยันว่ามีกลุ่มคนที่โยกย้ายเข้ามาสร้างธุรกิจลักษณะนี้ในเมืองไทย” ดักลาส ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ พร้อมระบุว่าเหยื่อมีทั้งเด็กไทยและเยาวชนจากประเทศเพื่อนบ้าน
โฆษกรัฐบาลไทยยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานล่าสุดของ UNODC
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) รายงานเมื่อปี 2016 ว่า ครอบครัวชาวฟิลิปปินส์ที่มีฐานะยากจนมักผลักดันให้ลูกหลานขายเซ็กซ์ผ่านสื่อออนไลน์ให้กับพวกที่นิยมมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก ซึ่งการกระทำลักษณะนี้ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการนำเด็กมาใช้แรงงานทาส (child slavery)
UNODC ระบุด้วยว่า การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และการขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาลักลอบตัดไม้ คือ 2 สาเหตุหลักของปัญหาการค้ามนุษย์ในภูมิภาคนี้
เมื่อเดือน มิ.ย. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้จัดอันดับของไทยไว้ที่ “เทียร์ 2 เฝ้าระวัง” ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี “Trafficking in Persons Report” โดยอ้างว่ารัฐบาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามมากขึ้นหากเทียบกับช่วงเวลาของการออกรายงานคราวก่อน ไม่ดำเนินคดีเชิงรุกและลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งสมรู้ร่วมคิดกับอาชญากรค้ามนุษย์ ซึ่งการสมคบคิดของเจ้าหน้าที่ถือเป็นอุปสรรคต่อความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์