xs
xsm
sm
md
lg

“ทีไอเจ” จัดประชุมการใช้กฎหมายสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ลดปัญหาขัดเเย้งในสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR online - “ทีไอเจ” เสวนา หลักนิติธรรมลดความเหลื่อมล้ำ ยกการแก้ปัญหาทางออกแท็กซี่-อูเบอร์ เพื่อหาทางออกอย่างยั่งยืน

วันนี้ (12 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) จัดประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3 ชูแนวคิด “หลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙” ภายในงานได้มีการเสนอกรณีศึกษาปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันเพื่อหาทางออกไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับประเด็นเรื่อง “ทางเลือกสำหรับเทคโนโลยีก้าวกระโดด โดยใช้หลักนิติธรรมภายใต้หลักเศรษฐกิจแบ่งปัน” (Sharing Economy) เพราะถือเป็นข้อเสนอใหม่ในการปลดล็อกความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ เช่นที่เราเห็นชัดเจนก็จากความขัดแย้งกรณี แท็กซี่ และ แกร็บ และ อูเบอร์ โดยฝั่งหนึ่งบอกฉันถูกกฎหมายฉันต้องอยู่ อีกฝั่งบอกประชาชนต้องการฉัน ทำไมไม่เปิดรับเพื่อพัฒนา เพราะฉะนั้น ต้องเอาหลักนิติธรรมเข้ามาแก้ไขหลักกฎหมาย เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นต้น ซึ่งในอนาคตน่าจะมีธุรกิจอื่นๆอีกมาก เช่น ธุรกิจโรงแรมต่างๆ เพราะเป็นเรื่องที่เราหลีกหนีไม่ได้ เพราะในยุค 4.0 ต้องขับเคลื่อนประเทศกันด้วยนวัตกรรมบริการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกมาก

โครงการนำร่องนี้ มุ่งหวังสร้างโมเดล หรือ โครงสร้างในการพัฒนานวัตกรรมโดยพิจารณาผลกระทบรอบด้านกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาสู่การบริหารจัดการและปฏิรูปกฎหมาย โดยยึดหลักนิติธรรมที่มีหลักประกันในการลดความเหลื่อมล้ำของทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการและมีความโปร่งใสในการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างสนามทดลองโมเดลธุรกิจต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความพึงพอใจและไม่ส่งผลกระทบ ไม่มีความขัดแย้งกัน เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นใหม่ที่มีการพูดถึงทางออกในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง และ ค่อนข้างด่วนมากๆ เพราะขณะนี้ความขัดแย้งระหว่างแท็กซี่และอูเบอร์ก็ยังมีอยู่ซึ่งก็เป็นปัญหาในหลายประเทศด้วย

โดยเสวนาเรื่องนี้ มาจากกลุ่มบริหารรุ่นใหม่ที่ได้รับการอบรม หลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” เพื่อหวังที่จะสร้างเครือข่ายผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงและทางกลุ่มได้เสนอเรื่องนี้เพื่่อหาทางออกให้กับปัญหาในปัจจุบันเพราะตอนนี้เหมือนจะไม่มีทางออกมากนัก ซึ่งตรงนี้เกี่ยวกับเรื่องการแก้กฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ ให้ทันสมัย การให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพราะจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่สุด

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องเทคโนโลยีก้าวกระโดดถือเป็นความท้าทาย และเป็นสิ่งจำเป็นที่วงการกฎหมายจะต้องมีความเป็นธรรมในการคุ้มครองทั้งผู้ที่เข้ามาใหม่และผู้ประกอบการเดิมอย่างเหมาะสม กฎหมาย กฎ ระเบียบ รวมทั้งนโยบายของหน่วยงานภาครัฐจะต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นที่มาของความขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาได้

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง กฎหมายในฐานะเครื่องอำนวยความยุติธรรม ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ รับสั่งว่า “กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมือในการเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง” นอกจากนี้ พระราชดำรัสในหลายวาระยังชี้ให้เห็นว่า กฎหมายควรได้รับการทบทวนปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับยุคสมัยและสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น