เรดแฮท แนะองค์กรภาคอุตสาหกรรมการเงิน เร่งทรานฟอร์มสู่ดิจิตอล ด้วยการออกแบบชุดเชื่อมต่อข้อมูลแบบเปิดให้ทุกภาคส่วนสามารถเชื่อมต่อบริการได้ พร้อมโยกเงินดูแลระบบไอที หันมาใช้ลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพแทน พร้อมเผยธนาคารไทยลงทุนไอทีเติบโตกว่า 8% สูงกว่าเพื่อนบ้าน
นายเดเมียน วอง รองประธานและผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคอาเซียน เรดแฮท กล่าวว่า ด้วยสภาพการแข่งขันในธุรกิจการเงินที่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแข่งขัน ทำให้ภาคธุรกิจการเงินจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพราะที่ผ่านมา เป็นธุรกิจที่เกิดจากสภาพแวดล้อมเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งจากความต้องการของลูกค้า เมื่อกฎระเบียบต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เงื่อนไขระยะเวลาในการสร้างรายได้ ความกดดันจากการแข่งขัน และเงินลงทุนต่าง ๆ เกิดขึ้น
“ภาคการเงินจำเป็นต้องมีการสร้างบริการใหม่ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายด้วย ในจุดนี้การนำนวัตกรรมมาช่วยให้สามารถสร้างบริการได้มากขึ้น ใช้เงินลงทุนน้อยลงจึงเป็นทางออกที่สำคัญ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงการลงทุนไอทีในภาพรวมของประเทศไทย ยังถือว่ามีอัตราการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการเงิน การธนาคาร ที่ในภูมิภาคเอเชียมีการลงทุนไอที เพิ่มขึ้นราว 5% แต่ในไทยเติบโตราว 8%
ในจุดนี้ นายไมเคิล อาราเนต้า รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน สถาบันวิจัยไอดีซี คาดว่า การลงทุนด้านไอทีควรเพิ่มมาอยู่ในระดับ 10% เพื่อให้องค์กรธุรกิจสามารถแข่งขัน และรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอลได้ เพราะที่ผ่านมา มีการสำรวจแล้วว่า ภาคธุรกิจการเงิน การธนาคารกว่า 17% เริ่มหันมาใช้งานชุดเชื่อมต่อข้อมูลแบบเปิด (Open API) เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว
ส่วนที่เหลืออีกราว 17% มีแผนจะลงทุนพัฒนาชุดเชื่อมต่อข้อมูลภายในสิ้นปีนี้ 44% มีแผนที่จะลงทุนชุดเชื่อมต่อข้อมูลภายในปี 2018 แต่ก็ยังมีอีก 18% ที่ยังไม่มีแผนจะลงทุนดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต
ที่ผ่านมา การลงทุนไอที ในส่วนธุรกิจธนาคารจะมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ การลงทุนไอทีเพื่อใช้งานภายในองค์กร กับการลงทุนไอที เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการภายนอก สามารถนำระบบไปใช้ได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการก้าวเข้าสู่ FinTech
“เรดแฮท มองว่าการมาของ FinTech รวมถึงบล็อกเชน ไม่ได้เป็นภัยคุกคามของธนาคารที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่ธนาคารสามารถมองหาจุดที่ประสบความสำเร็จของบล็อกเชนมาช่วยในการพัฒนาบริการให้ดีขึ้น”
ขณะที่ไอดีซี ก็มองว่า กว่าการที่บล็อกเชนจะเริ่มให้บริการในวงกว้างแก่ประชาชนทั่วไป ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี เพราะในช่วงแรกก็จะมีแค่กลุ่มผู้ใช้ที่เชี่ยวชาญก่อน ทำให้ธนาคารยังมีเวลาที่จะเร่งเครื่องขึ้นมาให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ เรื่องของงบลงทุนทางด้านไอที ที่ปัจจุบันกว่า 70% ของทุกองค์กรถูกนำไปใช้ในการบำรุงรักษาระบบเดิม ขณะที่ 30% ถูกใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ ที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
แต่ในความเป็นจริง ธนาคาร หรือองค์กรธุรกิจ ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ควรที่จะหันมาลงทุนไอที เพื่อนำไปขับเคลื่อนธุรกิจใหม่มากกว่า ส่วนการบำรุงรักษาระบบเดิม ถ้านำไอทีเข้ามาประยุกต์ใช้ได้ถูกต้องก็จะลดค่าใช้จ่ายลงได้