xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมุมมอง “ธนวัฒน์” กับทิศทางไมโครซอฟท์ ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ดิจิตอลทรานฟอร์เมชัน” กลายเป็นเป้าหมายและโอกาสสำคัญของไมโครซอฟท์ ที่จะมุ่งไปในปีนี้ด้วยการนำเสนอระบบคลาวด์ที่มีความปลอดภัย พร้อมเครื่องมือต่าง ๆ มาเป็นตัวช่วยให้องค์กรธุรกิจ และผู้ใช้งานทุกคนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ รับกับการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิตอล

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้โอกาสสำคัญของบริษัทที่มีอินโนเวชันอย่างไมโครซอฟท์ ที่จะเข้ามาช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถแข่งขันในยุคดิจิตอลได้ เพราะตอนนี้ทุกคนต้องปรับตัวรับดิจิตอลทรานฟอร์เมชันทั้งหมด

“สิ่งที่ทำให้ไมโครซอฟท์ ยังอยู่ในองค์กรไอทีระดับต้น ๆ ของโลก คือ การที่มีอินโนเวชันที่กลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการให้บริการเวลานี้ ประกอบกับทัศนคติของผู้นำองค์กรที่ไม่ได้มองว่า ไมโครซอฟท์จะสำเร็จอย่างไร แต่มองว่าลูกค้า พาร์ตเนอร์ หรือทุกคนในโลกนี้ จะประสบความสำเร็จอย่างไร และไมโครซอฟท์จะเข้าไปช่วยได้อย่างไร”

เมื่อย้อนมามองถึงประเทศไทย ไมโครซอฟท์จะเน้นการผลักดันหลัก ๆ เลย คือ การมุ่งไปคลาวด์ ที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญให้องค์กรธุรกิจสามารถปรับตัวสู่ดิจิตอลได้ ประกอบกับการที่ไมโครซอฟท์ เชื่อมั่นในการให้บริการไฮบริดคลาวด์ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และตลาดได้ดีกว่า

ปัจจุบัน โลกของเทคโนโลยีไม่ได้อยู่ในยุคของโมบายดีไวซ์อีกต่อไป แต่กลายเป็นเข้าสู่ยุคของมัลติดีไวซ์ หรือการที่ทุกอุปกรณ์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ หรือที่รู้จักกันว่า คือ IoT ประกอบกับอีกคีย์เทรนด์สำคัญ คือ เรื่องของ AI เพราะตอนนี้ทุกองค์กรมีข้อมูลมหาศาล แต่ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

“ตอนนี้ถ้าใครยังถามอยู่ว่าจะไปคลาวด์ดีไหม ถือว่าเชยมาก ๆ เพราะควรจะลงทุนตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ควรจะถามแล้วว่าจะนำคลาวด์มาใช้ประโยชน์อะไร เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือตอบแทนสังคมให้ได้”

โดยก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดทั่วโลกของการลงทุนเพื่อในส่วนของดิจิตอลทรานฟอร์เมชัน จะมีมูลค่าอยู่มากกว่า 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับมูลค่าของตลาดคลาวด์ที่ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 ถือว่าเพิ่มขึ้นเยอะมาก และเป็นโอกาสของทุกผู้ให้บริการ

อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ยังคงยึดมั่นแนวทางในการทำตลาดร่วมกับพาร์ตเนอร์เหมือนเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของลูกค้าองค์กร และลูกค้าทั่วไป เพียงแต่จะมีการนำระบบดิจิตอลดาวน์โหลดเข้ามาใช้เพิ่มเติมในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้สะดวกขึ้น

ประกอบกับที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์จะไม่ค่อยมีการสื่อสารไปยังทุกภาคส่วนว่าสามารถให้บริการใดได้บ้าง ก็จะเข้ามารื้อในส่วนนี้ และนำข้อมูลในการนำระบบไอทีของไมโครซอฟท์ มาแนะนำให้ลูกค้าเข้าใจได้มากขึ้น เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าไปในตัว



ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้างในการทำตลาดเพื่อมาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าใน 4 ส่วนหลัก ๆ จากเดิมที่จะขายเป็นไลเซนต์ มาให้บริการในรูปแบบคลาวด์มากขึ้น ทั้งในแง่ของ 1. การสร้าง Modern Workplace ให้องค์กรธุรกิจสามารถติดต่อสื่อสารภายในองค์กรได้ทันสมัยมากขึ้น จาก Microsoft Teams และ Skype

2. นำ Business Applications เข้าไปใช้งานในองค์กรธุรกิจมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละองค์กร ภายใต้บริการอย่าง Microsoft Dynamics 365 3. ให้บริการ Applications & Infrastructure หลัก ๆ จาก Microsoft Azure และ SQL สุดท้าย 4. Data & AI ในการนำข้อมูลในองค์กรมาวิเคราะห์

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์สร้างรายได้จากธุรกิจคลาวด์คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 30% แต่เชื่อว่าในปีนี้จะสามารถเติบโตได้ในระดับตัวเลข 2 หลัก เพราะปัจจุบันได้งบในการลงทุนมาแล้ว แต่ส่วนตัวเชื่อว่าสามารถทำให้คลาวด์เติบโตขึ้นไปได้ในระดับ 5-10 เท่า

โดยไมโครซอฟท์จะต้องเน้นการสื่อสารเพื่ออธิบายให้ลูกค้าทราบถึงความต่างในระบบคลาวด์ของไมโครซอฟท์ รวมถึงในแง่ของความปลอดภัยที่ย้ายมาใช้งานคลาวด์ จากการที่มีมาตรฐานรองรับเป็นอันดับต้นๆของโลก

***ปรับตัวรับการแข่งขันในตลาด Office

สิ่งที่ไมโครซอฟท์ต้องปรับเพื่อให้ Microsoft Office สามารถแข่งขันได้ คือ การนำระบบคลาวด์เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Office 365 ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานตามความต้องการขององค์กรได้ พร้อมกับแสดงให้เห็นว่า Office 365 มีความปลอดภัยมากแค่ไหน

เมื่อรูปแบบของการจำหน่ายเปลี่ยนจากระบบไลเซนต์มาเป็นคลาวด์แทน ค่าใช้จ่ายของลูกค้าก็จะถูกลงทั้งในกลุ่มของลูกค้าองค์กร และลูกค้าทั่วไป ดังนั้น ก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะในตลาดองค์กรธุรกิจ

***เตรียมพบดีไวซ์ใหม่ ๆ แน่

ขณะเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจการจำหน่ายฮาร์ดแวร์ที่ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์เริ่มจำหน่าย Surface มาสักพักแล้ว ล่าสุด ก็มีแนวโน้มที่ดีในการนำ Surface Book และ Surface Laptop เข้ามาทำตลาด เพียงแต่ว่ายังอยู่ในช่วงเตรียมการ แต่ยืนยันว่านำเข้ามาทำตลาดแน่นอน

แต่ก็น่าเสียดายที่ไมโครซอฟท์ยังไม่มีแผนที่จะนำ Xbox เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่า ตลาดประเทศไทยยังมีปริมาณการละเมิดลิขสิทธิ์ที่สูงกว่าในสหรัฐฯ เกือบเท่าตัว จึงทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินสถานการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น