“เอปสัน” เพิ่มไลน์สินค้าอิงค์เจ็ตจับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หลังเห็นแนวโน้มความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีอิงก์เจ็ตที่เพิ่มมากขึ้น จากการยอมรับในกลุ่มเอสเอ็มอี ชูจุดขายที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อแผ่นในการพิมพ์สีถูกกว่าเลเซอร์ 3 เท่า พิมพ์ขาวดำประหยัดขึ้น 30% หวังสิ้นปีมีแชร์ในกลุ่มนี้ 5%
นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดอิงก์เจ็ตในกลุ่มแทงก์แท้เติบโต เพราะถูกนำไปใช้แทนเครื่องพิมพ์เลเซอร์ แต่ในตลาดอิงก์เจ็ตปกติหดตัวลงทำให้รวม ๆ แล้วตลาดเติบโตประมาณ 1-2% แต่สำหรับเอปสันถือว่าทำได้ค่อนข้างดีในไตรมาสที่ผ่านมา เติบโตได้ประมาณ 5%
“มูลค่ารวมของตลาดเครื่องพิมพ์ในปัจจุบัน อิงก์เจ็ตจะอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท ในขณะที่ตลาดเลเซอร์จะอยู่ราว 1.1 หมื่นล้านบาท และตลาดเครื่องพิมพ์ดอตแมทริกซ์ราว 600 ล้านบาท ทำให้รวม ๆ แล้วมูลค่าตลาดเครื่องพิมพ์จะอยู่ที่ราว 1.5 หมื่นล้านบาท”
โดยปัจจุบัน เอปสันมีส่วนแบ่งในตลาดอิงก์เจ็ตแบบแทงก์แท้เกิน 50% ซึ่งในกลุ่มนี้จะคิดเป็นมูลค่าราว 60-70% ของตลาดอิงก์เจ็ต ดังนั้น เมื่อเอปสันเริ่มรุกเข้าไปในกลุ่มอิงก์เจ็ตสำหรับองค์กรมากขึ้น ก็จะช่วยให้ภาพรวมของตลาดอิงก์เจ็ตเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่เป็นเครื่องพิมพ์ในตลาดองค์กร ทำให้มีรูปแบบในการจำหน่ายหลากหลาย ทั้งการขายขาด เช่าซื้อ คิดตามปริมาณงานพิมพ์ ซึ่งเอปสัน มั่นใจว่า เครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ของเอปสัน ราคาเครื่องแข่งขันได้ โดยเน้นไปที่ค่าใช้จ่ายต่อแผ่น การประหยัดพลังงาน และคุณภาพการพิมพ์
ขณะเดียวกัน จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปัจจุบัน ยอมรับประสิทธิภาพของเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต ด้วยส่วนแบ่งรายได้กว่า 60% ในกลุ่มผู้ใช้ในบ้าน และองค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จึงแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคมั่นใจในเทคโนโลยีมากขึ้น
“ในองค์กรของเอปสัน เชื่อว่า อิงก์เจ็ตจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มาฆ่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์ในอนาคต เนื่องจากสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายต่อแผ่นในการพิมพ์สีได้กว่า 3 เท่า และขณะเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้า ปริมาณการพิมพ์ต่อแผ่นก็สูงขึ้น จนสามารถเข้าไปตอบโจทย์การใช้งานในองค์กรได้”
ในความเชื่อของเอปสัน มองว่า เทคโนโลยีอิงก์เจ็ตให้คุณภาพการพิมพ์ และขั้นตอนการใช้งานที่สะดวกรวดเร็วกว่า เมื่อเทียบกับเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ที่ตามขั้นตอนต้องมีการฉายภาพไปที่กระดาษ ใช้ความร้อนยิงผงหมึกใส่กระดาษ ก่อนอัดแรงดันเพื่อให้หมึกซึมลงไปในกระดาษ แต่อิงก์เจ็ตใช้แค่ยิงหมึกออกมาใส่กระดาษ
“การยอมรับในเทคโนโลยีอิงก์เจ็ตในกลุ่มผู้ใช้ในบ้าน และองค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่มีส่วนแบ่งรายได้กว่า 60% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด จึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มั่นใจเทคโนโลยีอิงก์เจ็ตมากขึ้น”
ในส่วนของแผนการเจาะตลาดองค์กร นอกจากจะมีการลงทุนเพื่อเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจกลุ่มใหม่ ๆ ให้เข้าไปเจาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ยังรวมถึงธุรกิจปล่อยเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร, ร้านศูนย์ถ่ายเอกสาร, สถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการ พร้อมรับประกัน On-Site Service 1 ปี และซื้อเพิ่มได้ถึง 5 ปี
“สำหรับแผนการทำตลาดในกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ จะเน้นการให้ประสบการณ์ในการใช้งานกับคู่ค้า เพื่อให้ได้ทดลองใช้งานเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตประสิทธิภาพสูง ว่าจะมาแทนเครื่องพิมพ์เลเซอร์ได้ พร้อมกับแสดงประสิทธิภาพในการใช้งานที่หลากหลาย”
ล่าสุด เอปสัน ได้เปิดตัวเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตความเร็วสูงสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ด้วยการขยายสินค้าในตระกูล WorkForce Enterprise 2 รุ่น คือ WF-C20590 และ WF-C17590 (เข้าไทยปลายปี) ที่สามารถพิมพ์สีและขาวดำได้ 100 แผ่นต่อนาที และ 75 แผ่นต่อนาที ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน ยังพบว่าต้นทุนการพิมพ์ต่อแผ่นที่ประหยัดกว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์ และเครื่องถ่ายเอกสาร โดยถ้าเป็นการพิมพ์ขาวดำจะถูกกว่าประมาณ 26% และพิมพ์สีถูกกว่า 300% พร้อมกับรองรับการใช้งานที่หลากหลายทั้งขนาดกระดาษ A3 สูงสุด 350 แกรม และกระดาษยาว 120 เซนติเมตร
พร้อมกับการรวมฟังก์ชันสแกนเนอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร และแฟกซ์ ไว้ภายในเครื่องเดียว โดยสามารถสแกนเอกสารหน้าเดียวได้ 60 หน้าต่อนาที และการสแกนหน้าหลัง 110 หน้าต่อนาที โดยหมึกที่ใช้เป็นหมึกกันน้ำ DuraBrite Pigment Inl ในตลับ 4 สี สามารถพิมพ์สีได้ 5 หมื่นแผ่น และขาวดำ 1 แสนแผ่น
นอกจากนี้ ยังมีการเสริมไลน์สินค้าในกลุ่มเอสเอ็มอี ในรุ่น WF-C869R รองรับการพิมพ์สี 8.4 หมื่นแผ่น และขาว-ดำ 8.6 หมื่นแผ่น โดยพิมพ์ได้เร็ว 24 แผ่นต่อนาที สแกนเอกสารได้ 25 หน้าต่อนาที เพื่อตอบรับความต้องการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น
“เอปสัน คาดหวังว่า ภายในสิ้นปีนี้จะมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ประมาณ 5% ก่อนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต เพราะเป็นสินค้าที่ต้องใช้เวลาในการขาย เพราะต้องทำให้เกิดการยอมรับ มั่นใจ และเปลี่ยนมาใช้งาน”