ความไม่กล้าตัดสินใจในการแก้ปัญหาดาวเทียมไทยคมของภาครัฐ ที่ผูกเรื่องความอยากได้ผลประโยชน์จากเอกชนเพิ่มจากดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ถูกต้อง ด้วยการให้กลับไปอยู่ในรูปแบบสัมปทานโดยต้องเสียค่าวงโคจรให้รัฐเพิ่มแต่ไม่ยอมตัดสินใจว่าจะจัดเก็บเพิ่มในอัตราไหนและจัดเก็บอย่างไร
พ่วงเข้าไปกับการดึงเรื่องไม่ให้เอกชนยิงดาวเทียมไทยคม 9 ตามแผนที่เอกชนวางไว้ทั้งเพื่อการรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่หลายๆประเทศจ้องฮุบตาเป็นมัน เพื่อให้เป็นทรัพยากรของประเทศไทยต่อไป รวมทั้งแผนธุรกิจดาวเทียมสื่อสารที่วันนี้มีคู่แข่งเป็นดาวเทียมต่างประเทศที่มีต้นทุนเกือบทุกด้านถูกกว่าดาวเทียมของไทยได้เริ่มสร้างความหายนะให้กับธุรกิจของเอกชนแล้ว เพราะในขณะที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำลังกังวลกับสิ่งที่ต้องตัดสินใจว่า จะเป็นการทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และ เอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่นั้น ฝั่งเอกชนอย่างไทยคมเอง ขาข้างหนึ่งได้แตะอยู่ปากเหวแล้ว ซึ่งก้นเหวที่รออยู่เบื้องล่างหนักหน่วงระดับอาจถึงขั้นปิดบริษัท
แต่ผลกระทบที่รุนแรงกว่านั้น หากกระทรวงดีอียังถนัดแค่ตัดริบบิ้นเปิดงานพีอาร์ไปวันๆ ประเทศไทยก็จะสูญเสียตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไปถึง 2 ตำแหน่ง หรือ ท้ายสุดแล้วประเทศไทยก็อาจไม่มีดาวเทียมสื่อสารเป็นของตนเองด้วย
*** ดีอีไม่กล้าใช้อำนาจที่มีอยู่
หลังทนอัดอั้นกับปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเลือกเล่นแต่เกมกลางสนาม เตะลูกติ๊ดชึ่งรับส่งไปมา ไม่ยอมเดินเกมรุกยิงประตูปิดเกมสักที จนสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยคมจัดงานแถลงข่าวเปิดใจซีอีโอ ที่ตอบคำถามหมดเปลือก ชี้ให้เห็นปัญหาและแนวทางแก้ไข
ไพบูลย์ ภานุวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ย้อนไปเมื่อครั้งที่ พระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. มีผลบังคับใช้ กฎหมายระบุให้ ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจดาวเทียมต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช. บริษัทจึงดำเนินการตามกฎหมาย ทำให้ทั้ง ดาวเทียมไทยคม 7 และ ไทยคม 8 มีใบอนุญาตการใช้วงโคจรและใบอนุญาตการให้บริการดาวเทียม โดยจ่ายค่าธรรมเนียมให้ กสทช. ปีละ 5.25% ซึ่ง พ.ร.บ.กสทช. 2553 ก็ไม่ได้ระบุว่าอำนาจเรื่องวงโคจรอยู่กับใคร
แต่เมื่อจู่ๆรัฐ ต้องการให้กลับไปเป็นสัมปทานเหมือนเดิมเพราะเห็นว่ารัฐเสียผลประโยชน์ แต่รัฐเองกลับไม่กล้าตัดสินใจว่าจะดำเนินการไปในแนวทางไหน จนเวลาล่วงเลยมาเกือบ 2 ปีแล้ว ส่งผลกระทบให้ไทยคม 9 ไม่สามารถเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปแทนดาวเทียมไทยคม 4 ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งานในปี 2564 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่หมดอายุสัมปทานด้วย
ความล่าช้า ไม่กล้าตัดสินใจของรัฐ สะท้อนให้เห็นตั้งแต่สมัยที่ ทรงพร โกมลสุรเดช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หรือ กระทรวงดีอีในปัจจุบัน ดำเนินการถอนการจองตำแหน่งวงโคจรของดาวเทียมดวงที่ 9 (Filing) ไป ตั้งแต่ต้นปี 2559 จนกระทั่งถึงขณะนี้ แม้ว่าทรงพร ถูก ม. 44 เด้ง ออกจากตำแหน่งแล้ว กระทรวงดีอีก็ยังไม่ได้ดำเนินการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมให้กับบริษัทในฐานะที่กระทรวงเป็นตัวแทนภาครัฐ แต่อย่างใด
ขณะที่ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ แม้จะระบุว่า กสทช.มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องส่งเอกสารการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ก็ตาม แต่ก็ไม่มีการระบุว่าอำนาจอยู่ที่กสทช.หรือไม่ ดังนั้น เรื่องนี้ กสทช.และ กระทรวงดีอี ต้องตกลงกันให้เรียบร้อย ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ในขณะที่การจองตำแหน่งวงโคจร หรือ Filing กับ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จะใช้วิธี First come First serve หรือ ใครจองก่อนได้ก่อน การที่รัฐบาลไทยถอนการจองตำแหน่งวงโคจรออกมา ถือว่าทำให้ประเทศเสียหายมาก
***ธุรกิจเสียหายประเมินค่าไม่ได้
เมื่อผู้ใหญ่ในรัฐบาลออกปากว่าหากแก้ปัญหาไทยคม 7และ 8 ไม่เสร็จ ก็ไม่ต้องคิดจะยิงไทยคม 9 ทำให้เชื่อได้ว่าการแก้ปัญหาไทยคม 7 และ 8 ถูกนำไปผูกโยงเข้ากับดาวเทียมไทยคม 9 มาโดยตลอด ทั้งที่ควรจะแยกกันคนละเรื่อง ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายกิจการอวกาศแห่งชาติ ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน ก็เข้าใจถึงปัญหาและพยายามหาทางออก ด้วยการสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดีอี, กสทช., กสท โทรคมนาคม, กระทรวงกลาโหม ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันมากกว่า 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปอะไรที่ชัดเจน ประเภทไม่มีใครกล้าฟันธง ทำให้ทุกอย่างยังเป็นเหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่าง ไม่คืบหน้าไปไหน
ในขณะที่ความล่าช้าที่เกิดขึ้น อย่างมากประเทศไทยก็เสียตำแหน่งวงโคจรไป แต่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลป่านนั้นก็สะบัดบั้นท้ายลงจากเก้าอี้หมดแล้ว ไม่รับรู้ความเสียหายที่เกิดขึ้น
แต่เอกชนกลับได้รับผลกรรมที่ไม่ได้ก่อ ที่เกิดขึ้นแล้วคือ ลูกค้ารายใหญ่ อย่าง ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป บริษัทเทเลคอม และอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เดิมอยู่ ปีละ 1,000 ล้านเยน (ประมาณ 300 ล้านบาท) ซึ่งดาวเทียมไอพีสตาร์ กำลังจะหมดอายุการใช้งานในปี 2564 และได้จองการใช้งานดาวเทียมไทยคม 9 ไว้ ต้องยกเลิกแผนการใช้งานโดยแจ้งมาตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมา
เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการบริหารจัดการดาวเทียม ส่งผลให้ไทยคมได้รับความเสียหาย เพราะลูกค้าดังกล่าวได้มีการจองการใช้งานดาวเทียมดวงที่ 9 ถึง 30% ของบริการทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน 1.5 กิกะไบต์
'การสร้างดาวเทียมแต่ละดวงใช้ระยะเวลานาน เราต้องวิเคราะห์ว่าดาวเทียมที่จะลงทุนแต่ละดวงคุ้มค่ากับลูกค้าที่จะมีหรือไม่ อายุการใช้งานดาวเทียมก็สูง 15 ปี นานมากที่จะมองในอนาคต วางแผนยากมาก ต้องประเมินราคาและสถานการณ์การแข่งขันในอนาคต ความเสี่ยงของปีท้ายๆ เราจะรับได้ไหม หากลูกค้าใช้ไม่ยาวพอ เราก็ต้องหาลูกค้าที่ซื้อความจุกับเรานานๆตั้งแต่แรก แต่ลูกค้าก็เสี่ยงเพราะต้องวิเคราะห์ราคาว่าจะคุ้มหรือไม่ หาลูกค้าว่ายากแล้ว การสร้างดาวเทียมก็ต้องใช้เวลา ระยะเวลาในการสร้างดาวเทียมตั้งแต่เปิดประมูล เขียนทีโออาร์ กว่าจะสร้างเสร็จ 2-3 ปี ไทยคม 4 กับ ไทยคม 5 จะหมดอายุปี 2564 เราต้องเริ่มวางแผนช้าที่สุดปี 2561 คือปีหน้าต้องเซ็นสัญญากับลูกค้าแล้ว ปีหน้าต้องเริ่มสร้างดาวเทียม แต่ภาครัฐก็ไม่กล้าตัดสินใจ เราสร้างดาวเทียม 9 ไม่ได้ ทำให้เราเสียโอกาส ตอนนี้ลูกค้าใช้ไทยคม 4 อยู่ 50% ของความจุที่มีทั้งหมด ขณะที่ไทยคม 5 มีลูกค้าใช้เต็ม 100 % แต่ลูกค้าไม่อยู่จนใช้ดาวเทียมของเราจนหมดอายุหรอก เขาก็ต้องให้บริการกับลูกค้าของเขาต่อเนื่อง แน่นอนว่าเขาต้องโยกย้ายไปใช้ดวงอื่น นั่นก็คือของดาวเทียมของต่างประเทศ'
ไพบูลย์ กล่าวย้ำว่า รัฐมัวแต่ห่วงว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ เอกชนจะได้ประโยชน์ แต่รัฐได้มองหรือไม่ว่า ต่างประเทศเริ่มเข้ามาแข่งขันในประเทศไทยมากขึ้น ตอนนี้ การแข่งขันสูงขึ้น หลายประเทศก็มีดาวเทียมทั้ง มาเลเซีย สิงโปร์ ลาว เวียดนาม แม้แต่พม่า ซึ่งพวกนี้เริ่มเข้ามาเจาะลูกค้าของเราไป ถามว่าภาครัฐเคยคิดจะปกป้องธุรกิจดาวเทียมในประเทศหรือไม่ เคยคิดจะสนับสนุนให้ดาวเทียมในประเทศเติบโตเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศและขับเคลื่อนนโยบาย 4.0 หรือไม่
สุดท้ายหากไม่สามารถสร้างดาวเทียมได้ทัน ธุรกิจ ก็ไม่มีกำไร ไม่มีเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาต ไม่มีกำไรมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน เพื่อสร้างอาชีพให้คนไทย เมื่อถามว่าประเมินมูลค่าที่เสียหายได้หรือไม่ ไพบูลย์ กล่าวสั้นๆว่า ประเมินไม่ได้เลย เพราะมันเสียหายมาก
***ไทยต้องสูญเสียดาวเทียมของประเทศ
ไม่เพียงแค่ไทยคม 4 เท่านั้น ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งานและต้องมีดาวเทียมดวงใหม่มาทดแทนในตำแหน่งวงโคจรเดิม เพราะไทยคม 5 ก็จะหมดอายุการใช้งานในเวลาไล่เรี่ยกัน นั่นเท่ากับว่า ประเทศไทย จะเสียวงโครจรที่ 119.5 องศา (ไทยคม 4) และ 78.5 องศา (ไทยคม 5 ) พร้อมกัน ถึง 2 วงโคจร เพราะหากรัฐบาลไทยไม่รีบจองสิทธิ์เพื่อใช้งานต่อเนื่อง ประเทศอื่นที่จองต่อจากไทยก็จะได้รับสิทธิ์นั้นไปทำต่อ
หากประเทศไทยไม่มีดาวเทียมของประเทศอะไรจะเกิดขึ้น ไพบูลย์ เล่าว่า ที่ผ่านมา เวลามีเหตุการณ์ทางการเมืองที่จำเป็นต้องสื่อสารข่าวสารให้ประชาชนทราบ ดาวเทียมจะถูกเลือกเป็นเครือข่ายในการสื่อสารมาโดยตลอด ขณะที่เมื่อมีภัยพิบัติและระบบสื่อสารโทรคมนาคมภาคพื้นดินไม่สามารถใช้งานได้ ดาวเทียม ก็ช่วยใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารในยามฉุกเฉินได้ อย่างกรณี สึนามิที่เกิดขึ้น หากสถานีดาวเทียมไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย รัฐจะทำอย่างไร
***สุดท้ายอาจต้องใช้ไม้แข็ง
ไพบูลย์ ยอมรับตรงๆว่า ไม่มั่นใจเลยว่ารัฐจะแก้ปัญหาได้ทัน ที่ผ่านมาไทยคมให้ความร่วมมือตลอด รัฐอยากให้ทำอะไรก็บอก ไทยคมอยากเป็น 'ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ดี' แต่เมื่อรัฐในฐานะองค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ไม่ตัดสินใจว่าจะให้ทำอย่างไร มันถูกต้องหรือไม่ ถือเป็นการละเลยการปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ การทำให้ธุรกิจของเอกชน และดาวเทียมของประเทศไทยเสียหาย มันถูกต้องหรือไม่ เข้าใจได้ว่ารัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวจะมีคดีเหมือน น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีไอซีที แต่มันถูกต้องแล้วหรือ
'สุดท้ายหากรัฐบาลไม่มีทางออกจริงๆ ใช้ ม. 44 เลยก็ได้ เพราะไม่ว่ารัฐจะทำ หรือ ไม่ทำ อะไรเลย ก็ทำเกิดความเสียหายได้เหมือนกัน'