xs
xsm
sm
md
lg

“ซีอีโอไทยคม” ร้อง ใช้ ม. 44 แก้ปัญหาดาวเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ไพบูลย์” เรียกร้องรัฐบาลใช้ ม. 44 แก้ปัญหาดาวเทียมไทยคมดวงที่ 7 และ 8 เหตุรัฐไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้กระทบดวงที่ 9 กระทรวงดีอี ไม่ยื่นจองตำแหน่งวงโคจรให้ ล่าสุด ซอฟต์แบงก์ ยกเลิกสัญญาใช้งานต่อเนื่องจากดวงที่ 4 ไปดวงที่ 9 แล้ว ยืนยันรัฐควรให้ความชัดเจนภายในปีนี้ เพื่อเซ็นสัญญาจัดสร้างดาวเทียม และหาลูกค้าภายในปีหน้า ไม่เช่นนั้น อาจต้องปิดบริษัท

นายไพบูลย์ ภานุวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งในขณะนั้น ยังคงเป็นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อยู่ในสมัยที่ นางทรงพร โกมลสุรเดช ดำรงตำแหน่งเป็น ปลัดกระทรวงไอซีที ได้ถอนการจองตำแหน่งวงโคจรของดาวเทียมดวงที่ 9 (Filing) ไป นับตั้งแต่ต้นปี 2559 จนกระทั่งถึงขณะนี้ กระทรวงดีอีก็ยังไม่ได้ดำเนินการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมให้กับบริษัทในฐานะที่กระทรวงเป็นตัวแทนภาครัฐ ทำให้ลูกค้ารายใหญ่ คือ ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป บริษัทเทเลคอม และอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการดาวเทียมดวงที่ 4 (ไอพีสตาร์) เดิมอยู่ ปีละ 1,000 ล้านเยน (ประมาณ 300 ล้านบาท) ซึ่งดาวเทียมไอพีสตาร์ กำลังจะหมดอายุการใช้งานในปี 2564 และได้จองการใช้งานดาวเทียมดวงที่ 9 ไว้ ต้องยกเลิกแผนการใช้งานโดยแจ้งมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการบริหารจัดการดาวเทียม ส่งผลให้ไทยคมได้รับความเสียหาย เพราะลูกค้าดังกล่าวได้มีการจองการใช้งานดาวเทียมดวงที่ 9 ถึง 30% ของบริการทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน 1.5 กิกะไบต์

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในการแก้ปัญหาดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ที่ถูกผูกโยงเข้ากับดาวเทียมดวงที่ 9 ทำนองว่าหากแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนไม่ได้ ก็เลิกหวังที่ดาวเทียมดวงที่ 9 จะได้ยิง

ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น คือ รัฐต้องการได้มากกว่าแค่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 5.25% ซึ่งคณะกรรมการนโยบายกิจการอวกาศแห่งชาติ ที่มี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง เป็นประธานก็พยายามหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดีอี, กสทช., กสท โทรคมนาคม, กระทรวงกลาโหม ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันมากกว่า 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปอะไรที่ชัดเจน ประเภทไม่มีใครกล้าฟันธง

กระทั่งครั้งล่าสุด เมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซอฟต์แบงก์ได้ขอยกเลิกแผนการใช้งานกับไทยคมแล้ว เนื่องจากซอฟต์แบงก์ ต้องการความชัดเจนในการให้บริการกับลูกค้าได้ต่อเนื่อง เพราะต้องใช้เวลาในการถ่ายโอนลูกค้าจากดาวเทียมดวง 4 ไปสู่ ดาวเทียมดวง 9 ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเพื่อให้เกิดความราบรื่น จึงต้องการให้สร้างดาวเทียมล่วงหน้า 1-2 ปี เพื่อไม่ไห้การให้บริการต่อลูกค้าสะดุด เพราะดาวเทียมไทยคม 4 จะหมดอายุการใช้งานพร้อม ๆ กับหมดสัญญาสัมปทานในปี 2564

ทั้งนี้ ในการเจรจากับรัฐ แม้ว่าไทยคม ได้เสนอโซลูชันในการเป็นดาวเทียมประชารัฐ เพื่อให้ความจุ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวน 30% เพื่อให้บริการกับกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานความมั่นคง เพื่อใช้ในทางด้านความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่ กสท โทรคมนาคม เองก็ต้องไปขอใบอนุญาตการเป็นผู้ให้บริการกิจการอวกาศ จาก กสทช. และจ่ายค่าใบอนุญาต 5.25% ให้กับ กสทช.

แต่ก็ยังเป็นเพียงหนึ่งในข้อเสนอที่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ตัดสินใจไปในทางไหน ดังนั้น หากภายในปีนี้ไม่มีความชัดเจนว่า จะสามารถจองวงโคจรให้ดาวเทียมดวงที่ 9 ได้หรือไม่ เพื่อให้สามารถลงนามสัญญากับลูกค้าภายในปี 2561 ก็จะทำให้ธุรกิจของไทยคมต้องสูญเสีย ทั้งในแง่ของรายได้ ไม่มีการลงทุนต่อ ไม่มีการจ้างงาน จนสุดท้ายอาจต้องปิดบริษัท

“เข้าใจได้ว่ารัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวจะมีคดีเหมือน น.พ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แม้ว่า พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี จะบอกแนวทางให้ควรแยกการแก้ปัญหาการเก็บรายได้ดาวเทียมดวงที่ 7 กับ 8 ออกไปก่อน ส่วนเรื่องดาวเทียมดวงที่ 9 ก็ควรหาทางออกว่า ใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการจองวงโคจร เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน แม้ว่า พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่มีการระบุว่า กสทช. มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องจองวงโคจรก็จริง แต่ในกฎหมายก็ไม่ได้ระบุถึงอำนาจว่า ต้องเป็นใครในการไปจอง ซึ่งก็ต้องกลับมาที่กระทรวงดีอี กับ กสทช. ที่ต้องมาคุยกันอีก บอกตามตรงว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะเราควบคุมไม่ได้ หรือรัฐบาลจะใช้ ม. 44 ไปเลยก็ดีนะ หากสุดท้ายแล้วหาทางออกไม่ได้” นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับเงื่อนไขที่รัฐบาลเคยเสนอให้เก็บรายได้จากดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ที่ กสทช. ได้ออกใบอนุญาตไปแล้วให้กลับไปอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานเดิม และต้องจ่ายค่าสัมปทานปีละ 20.5% จนกว่าจะหมดอายุสัมปทานในปี 2564 นั้น เป็นสิ่งที่ไทยคมรับได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขที่มากกว่านั้น อย่างเช่น รัฐบาลก็ต้องปกป้องการแข่งขันจากดาวเทียมต่างชาติด้วย เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันด้านราคาจากดาวเทียมต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนไทยคมแค่ค่าธรรมเนียมที่เสียให้ กสทช. ปีละ 5.25% ก็ถือว่าแพงกว่าดาวเทียมดวงอื่น ๆ ทั่วโลกก็ว่าได้

“สิ่งที่พูดถึงทั้งหมดไม่ใช่แค่ดาวเทียมดวง 4 เมื่อหมดอายุสัมปทานในปี 2564 แล้ว หากไม่จองดวงที่ 9 ในวงโคจรเดิมเพื่อให้บริการลูกค้าต่อไป ก็ทำให้เสียวงโคจรไป แต่อย่าลืมว่า ดาวเทียมไทยคม 5 ก็จะหมดอายุสัมปทานในปีเดียวกัน ก็เท่ากับว่าไทยคม หรือประเทศไทย จะเสียสิทธิ์ในวงโคจรเดิมเพิ่มเป็น 2 วงโคจร”


กำลังโหลดความคิดเห็น