กลุ่มทรู ร่วมเซ็นเอ็มโอยู สนช. ลงทุนใน 3 ย่านนวัตกรรม ปุณณวิถี ปทุมวัน และภูเก็ต พร้อมประกาศเร่งลงทุนสตาร์ทอัปเพิ่มเป็น 100 รายในปีนี้จากปัจจุบัน 11 ราย หวังเป็นฐานช่วยยกระดับการขับเคลื่อนประเทศ และเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนจากต่างประเทศ
นายธีรพล ถนอมศักดิ์ยุทธ (ที่ 3 จากขวา) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเซ็นเอ็มโอยูในคราวนี้เพื่อเข้าไปช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้เห็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการสนับสนุนย่านนวัตกรรมให้เกิดขึ้นประเทศไทย
“ในการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และสตาร์ทอัปชั้นนำจากต่างประเทศ นอกจากปัจจัยในแง่ของภาษีที่เหมาะสมแล้ว ก็ยังต้องการอินฟราสตรักเจอร์ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งกลุ่มทรู มีการลงทุน True Digital Park ที่จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2561 อยู่แล้ว”
การนำ True Digital Park เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในย่านนวัตกรรมปุณณวิถี ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของกลุ่มทรู ที่จะร่วมกับภาครัฐ ในการสนับสนุนสตาร์ทอัป ในการสนับสนุนทั้งอีโคซิสเตมส์ ภายใต้เงินลงทุนทั้งโครงการกว่า 3 หมื่นล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอยราว 3.8 หมื่นตารางเมตร
ขณะเดียวกัน เพื่อสนับสนุนให้โครงการดังกล่าวเกิด จำเป็นต้องมีการเข้าใช้งานของสตาร์ทอัประดับ 100 ราย เพื่อเรียกความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ในจุดนี้ ทรู อินคิวบ์ จึงได้วางแผนลงทุนในระดับเริ่มต้นแก่เหล่าสตาร์ทอัปเพิ่มขึ้นอีก
“ตอนนี้กลุ่มทรู มีการลงทุนในสตาร์ทอัปไปแล้วราว 11 ราย และอยู่ระหว่างพูดคุยข้อตกลงอีกราว 20-30 ราย โดยที่ผ่านมา จะใช้เงินลงทุนต่อรายอยู่ที่ 7 แสนบาท ไม่นับรวมกับการผลิตสื่ออื่น ๆ ภายในเครือมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท”
สำหรับการลงทุนสตาร์ทอัปเพิ่มเติมในแง่ของเงินลงทุนจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของบริษัท เนื่องจากทรูจะเข้าไปลงทุนตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย แทนการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัปที่เริ่มประสบความสำเร็จแล้ว เพื่อให้เกิดสตาร์ทอัปเพิ่มขึ้นในอนาคต
ส่วนในย่านอื่น ๆ ที่ทรูเข้าไปร่วมเซ็นเอ็มโอยูอย่างย่านปทุมวัน ก็เป็นสถานที่ที่ทรูได้เปิดสำนักงานใหญ่ของทรู อินคิวบ์ อยู่บนชั้น 4 ดิจิตอล เกตเวย์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และอบรบทางด้านสตาร์ทอัปที่จัดอบรมอย่างต่อเนื่อง รวมกับการลงทุนใน ทรู แลปส์ (True Labs) ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการทำวิจัยและพัฒนา
ขณะที่ในย่านภูมิภาค ที่จังหวัดภูเก็ต ยังเป็นแผนในระยะยาว โดยมองว่า ถ้ารูปแบบของ True Digital Park ที่ย่านปุณณวิถี ดำเนินการสำเร็จ ก็อาจจะยกโครงการดังกล่าวไปไว้ที่ภูเก็ต เพื่อให้เป็นแหล่งส่งเสริมสตาร์ทอัปครบวงจรก็ได้
“จากสถิติพบว่า ที่ผ่านมา สตาร์ทอัปในประเทศไทยมีโอกาสสำเร็จเพียง 5% เท่านั้น ทำให้กลุ่มทรู มองว่า การที่จะเพิ่มโอกาสดังกล่าวต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐที่มีนวัตกรรม และงานวิจัยจำนวนมหาศาล มาร่วมกับเอกชน ที่จะช่วยนำตลาดที่มีอยู่เพื่อเข้าไปลดความเสี่ยง โดยให้เหล่าสตาร์ทอัปมาเป็นสะพานเชื่อม”
ทั้งนี้ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาย่านนวัตกรรมในประเทศไทย (Thailand Innovation Districts) ระหว่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน
โครงการย่านนวัตกรรมมีแนวคิดตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา และเริ่มดำเนินการในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่สนช. กำหนดไว้ 15 ย่าน ประกอบด้วย ย่านนวัตกรรมในกรุงเทพฯ 8 แห่ง คือ โยธี, ปทุมวัน, คลองสาน, รัตนโกสินทร์, กล้วยน้ำไท, ลาดกระบัง, ปุณณวิถี และบางซื่อ
ย่านนวัตกรรมในแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) 4 แห่ง คือ บางแสน, ศรีราชา, พัทยา และอู่ตะเภา-บ้านฉาง และย่านนวัตกรรมในภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต