เกาะติดสถานการณ์ล่าสุดของเฟซบุ๊ก (Facebook) เรื่องการสร้างสรรค์ “รายการโชว์คุณภาพเทียบเท่าทีวีโชว์” ของตัวเอง เพื่อเผยแพร่สู่สายตาผู้ชมเฟซบุ๊กเท่านั้น งานนี้วงการทีวีเตรียมหนาว เพราะมีข่าวว่า เฟซบุ๊กได้ติดต่อกับเอเจนซีในฮอลลีวู้ด เพื่อให้ช่วยผลิตรายการโชว์แล้วอย่างจริงจัง บนงบประมาณมากกว่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐต่อตอน กำหนดการแพร่ภาพ คือ ไตรมาส 3 ปีนี้
สิ่งที่เฟซบุ๊กกำลังจะทำ คือ การแพร่ภาพรายการทีวีโชว์ทีละตอน ๆ ตามสไตล์รายการทีวีดั้งเดิม ไม่ใช่การเผยแพร่แบบรวดเดียวเหมือนที่บริการสตรีมมิงเจ้าตลาดอย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ทำ เบื้องต้น โฆษกเฟซบุ๊ก ยืนยันแล้วว่า จะลงทุนในรายการโชว์แบบเป็นตอน (episodic show) โดยตรง แต่ในอนาคตจะให้ทุนผู้สร้างวิดีโอผ่านรูปแบบส่วนแบ่งโฆษณา
คำยืนยันนี้บอกใบ้ชัดเจนว่า การชมรายการโชว์บนเฟซบุ๊ก จะต้องแลกกับการชมโฆษณา และเฟซบุ๊กก็จะมีรูปแบบธุรกิจใหม่ที่จะรวบรวมได้ทั้งเงินทอง และกระแสความนิยม
สำนักข่าวต่างประเทศบางรายระบุว่า รายการทีวีโชว์คุณภาพของเฟซบุ๊กจะพร้อมออกอากาศในปีหน้า 2018 แต่บางสำนักก็ระบุว่า เฟซบุ๊กจะเริ่มสตรีมรายการโชว์ของตัวเองในไตรมาส 3 ปีนี้ ตามรอยเน็ตฟลิกซ์ และแอมะซอน (Amazon) ที่ผลิตรายการของตัวเองจนทำให้ผู้บริโภคติดตามงอมแงม
***เป็นรายการแบบไหน?
ไม่ว่าจะปีนี้ หรือปีหน้า สิ่งที่แน่ชัด คือ รูปแบบโชว์บนเฟซบุ๊กที่คาดว่า จะเป็นภาพยนตร์ชุดหรือซีรีส์ที่เน้นความสัมพันธ์ยุคใหม่ดรามาน่าติดตาม และอาจเป็นรายการเกมโชว์ที่สนุกสนานเข้มข้นเหมือนซีรีส์ชุด “Strangers” และ “Last State Standing” ซึ่งเฟซบุ๊กแสดงความสนใจเป็นพิเศษระหว่างการขายหุ้นของบริษัท
ประเด็นนี้ สำนักข่าวบิสสิเนสอินไซเดอร์ เคยรายงานว่า เฟซบุ๊กเปิดไฟเขียวมอบทุนให้เกมโชว์คู่รักเรียลริตีนี้ถูกสร้างเป็นระบบเวอร์ชวล เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับภาพเสมือนจริง นอกจากนี้ ยังมีการจับมือกับสตูดิโอชื่อ “คอนเดแนสต์” (Conde Naste) เพื่อผลิตภาพยนตร์ชุดที่มีนักแสดงระดับเซเลบฯร่วมด้วยหลายคน
ทั้งหมดนี้ นักวิเคราะห์ฟันธงว่า เฟซบุ๊กวางเป้าหมายของโครงการไว้ที่การเจาะกลุ่มเป้าหมายที่อายุระหว่าง 13-14 ปี รวมถึงเพื่อแข่งขันกับเน็ตฟลิกซ์ แอมะซอน และแพลตฟอร์มบริการสตรีมมิงอื่นที่มีให้บริการซีรีส์เอ็กซ์คลูซีฟของตัวเองอยู่แล้วให้ได้ดีขึ้น เบื้องต้น เชื่อว่าอาจมีการประกาศเปิดตัวรายการใหม่ที่สร้างขึ้นเองราว 24 รายการ
นอกจากติดต่อให้บริษัทอื่นผลิตให้ เฟซบุ๊กยังติดต่อซื้อรายการจากผู้สร้าง หรือสถานีอื่นมาฉายคู่ไปด้วย โดยบางรายการอาจสั้น 10 นาที
สำหรับกลุ่ม 17-30 ปี มีรายงานว่า เฟซบุ๊กเลือกโชว์อย่าง Pretty Little Liars, Scandal หรือ The Bachelor มาฉาย และคาดว่ามีคอนเทนต์อีกนับสิบเรื่องที่รอต่อคิว
***ฉายอย่างไร?
รายงานระบุว่า เฟซบุ๊กจะใช้วิธีดั้งเดิม คือ ทยอยปล่อยโชว์ 1 ตอนใหม่ต่อสัปดาห์ ลักษณะนี้ต่างจากเน็ตฟลิกซ์ และแอมะซอน ที่สร้างจุดขายว่า ผู้ใช้สามารถตะลุยกดชมซีรีส์ทั้งชุดได้แบบตาแฉะในครั้งเดียว ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กก็จะแบ่งปันข้อมูลสถิติการรับชมกับบริษัทอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มบริการสตรีมมิงรายอื่นไม่ได้ทำ
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น คือ เพราะเฟซบุ๊กต้องการนำข้อมูลนี้ไปหารายได้จากโฆษณา ทำให้ผู้ชมคลิกชมได้ฟรี ต่างจากที่บริการสตรีมมิงเน้นจุดขายไม่มีโฆษณา แลกกับที่ผู้ชมต้องเสียค่าบริการรายเดือนรายปี
อีกจุดที่น่าสังเกต คือ รายการทีวีโชว์ของเฟซบุ๊กจะเปิดให้ผู้ชมชมผ่านแอปพลิเคชันของเฟซบุ๊กบนอุปกรณ์พกพาด้วย เท่ากับว่า จอเล็กจอน้อยในอุปกรณ์รอบตัวของทุกคนจะสามารถชมรายการเหล่านี้ได้ทั้งหมด
จุดนี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก เคยบอกใบ้ต่อสาธารณชนตั้งแต่กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เป้าหมายของเฟซบุ๊กในการพัฒนาประสบการณ์ใช้งาน คือ การทำให้ผู้ใช้รู้สึกอยากชมวิดีโอ หรือรอคอยให้ถึงวันที่จะได้ชมรายการโชว์ที่ตัวเองชื่นชอบ อารมณ์ความรู้สึกนี้กำลังจะเกิดขึ้นบนเฟซบุ๊ก ทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นสถานที่ที่ผู้ใช้จะรู้ว่า มีวิดีโอทุกอย่างที่ทุกคนสนใจ
***แล้วอย่างไรต่อ?
นิก กรูดิน (Nick Grudin) ประธานฝ่ายสื่อของเฟซบุ๊ก ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นอล ว่า เฟซบุ๊กจะสนับสนุนพันธมิตร และผู้สร้างคอนเทนต์ เพื่อให้ทุกคนสามารถสร้างชุมชนผู้ชม หรือคอมมูนิตี (community) บนเฟซบุ๊ก คำพูดนี้ไปในทางเดียวกับที่ซีอีโอมาร์ก พูดถึงเฟซบุ๊กว่า จะช่วยให้ทุกคนสามารถสร้างคอมมูนิตี เพื่อให้ชาวโลกใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
หากมองที่อายุของกลุ่มเป้าหมาย 13-34 ปี ช่วงอายุนี้ตรงกับกลุ่มลูกค้าสแนปแชต (Snapchat) อย่างจัง เครือข่ายสังคมภาพอย่างสแนปแชตนั้น จับมือกับสตูดิโอใหญ่สร้างรายการของตัวเองเช่นกัน หนึ่งในนั้นมี ไทม์วอเนอร์ (Time Warner) ซึ่งมีข่าวว่า รับทุนไป 100 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว สำหรับผลิตรายการ และโฆษณาให้สแนปแชต โดยปัจจุบัน สแนปแชตนำเสนอคอนเทนต์ออริจินอลจากผู้ผลิตมากมาย ทั้งดิสนีย์, เอ็มทีวี, เอ็มจีเอ็ม และเอแอนด์อี บนโชว์ความยาวประมาณ 3-5 นาที
เหนืออื่นใด เฟซบุ๊กแสดงจุดยืนชัดเจน ไม่ต้องการรายการโชว์สำหรับเด็กต่ำกว่า 13 ปี และต้องการห่างไกลจากรายการข่าว ดรามาการเมือง รวมถึงรายการโป๊เปลือยทะลึ่งตึงตังสำหรับผู้ใหญ่ เรียกว่าเฟซบุ๊กต้องการเนื้อหาเป็นกลางที่ทุกคนชมได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่รายการที่มีเนื้อหาเสี่ยงไม่พึงประสงค์
นอกเหนือจากการบุกตลาดคอนเทนต์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเฟซบุ๊กก็คือ การขายหุ้นออกมาอีกครั้ง มูลค่า 42.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะถูกคาดว่าเป็นการขายหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับโปรเจกต์การกุศลที่เขา และภรรยาทำร่วมกัน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถูกมองว่า เกี่ยวข้องกับการระดมทุนให้บริษัทเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การประกาศขายหุ้นดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 21 และ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งหุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่มีอำนาจในการลงคะแนนถึง 10 เท่านั้น โดยได้ถูกแปลงให้เป็นหุ้นปกติก่อนนำออกขาย ทั้งนี้ เพื่อปกป้องอำนาจในการควบคุมบริษัทของซีอีโอเอาไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้มูลนิธิชานซักเคอร์เบิร์ก (The Chan Zuckerberg Foundation) ได้ขายหุ้นเฟซบุ๊กมูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เดิมเคยเป็นของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ออกไป และ CZI Holdings ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการการกุศล ก็ขายหุ้นอีก 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่นกัน
***ดีลใหม่?
ชัดเจนว่า เฟซบุ๊กต้องการเป็นเจ้าของเนื้อหาทั้งหมด แทนที่จะเป็นเพียงการซื้อสิทธิอนุญาตนำไปฉาย ดีลนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบดีลในวงการฮอลลีวู้ด ที่มักใช้วิธีเป็นเจ้าของเนื้อหา และออกขายสิทธิเพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว
ถามว่าทำไมสตูดิโอถึงยอม คำตอบ คือ เฟซบุ๊กมีสิ่งอื่นที่สามารถใช้เป็นเครื่องต่อรอง นั่นคือ ข้อมูลผู้ใช้ จุดนี้เฟซบุ๊ก ระบุว่า ยินดีที่จะแชร์ข้อมูลผู้ชมกับวงการฮอลลีวูด จุดยืนนี้ตรงกันข้ามกับเน็ตฟลิกซ์ และแอมะซอน ที่มองว่า ข้อมูลผู้ชมเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุด และไม่จำเป็นต้องแชร์ข้อมูลนี้ให้ใคร แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักโฆษณา
กรณีนี้จะทำให้เฟซบุ๊กเป็นคู่แข่งโดยตรงกับยูทูป (YouTube) เพราะเป็นเป็นบริการวิดีโอออนไลน์ที่ทำรายได้จากโฆษณาที่แทรกระหว่างการรับชม อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารยูทูปเคยให้ข้อมูลว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากสัดส่วนคอนเทนต์ 85% ที่เป็นคอนเทนต์ชนิดมีโฆษณาสนับสนุน ปัจจุบันตัวเลขนี้ลดลงอย่างมากเหลือเพียง 2 ใน 3 เท่านั้น เนื่องจากคอนเทนต์หลายรายการถูกเปลี่ยนไปแสดงผลในรูปแบบบริการจ่ายค่าบริการรายเดือนแทน เพราะผู้บริโภคไม่ต้องการชมโฆษณาคั่นกลาง
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กก็มองเทรนด์ดังกล่าวนี้ไว้ไม่ต่างกัน และต้องการก้าวข้ามโมเดลในการแบ่งรายได้กับผู้ผลิตนี้ด้วย เพียงแต่ว่าในช่วงต้นของรายการนั้น เฟซบุ๊กยังต้องทำรายได้ผ่านการมีโฆษณาแทรกในคอนเทนต์ของตนเองก่อน และมีบางรายการที่เฟซบุ๊กซื้อสิทธิในการฉายมาเลย และหวังว่าจะใช้โฆษณาแทรกนี้มาสร้างรายได้กลบต้นทุนของการซื้อรายการด้วย.