ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่ดีของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) กับการพยายามทำให้แพลตฟอร์มของตนเองนั้น “เป็นประโยชน์” มากขึ้นในยามเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฟซบุ๊ก มีการเปิดตัวเครื่องมือใหม่ที่สามารถช่วยระบุตำแหน่งของผู้ประสบภัยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงไปให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
เพื่อให้การพัฒนานี้เกิดขึ้น รายงานระบุว่า เฟซบุ๊กได้สร้างแผนที่ที่แตกต่างกันขึ้นมา 3 ชนิด เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยในการค้นหาผู้รอดชีวิตจากภัยธรรมชาติ
ประเภทแรกเป็นแผนที่ที่ใช้อยู่ในระบบของเฟซบุ๊กในปัจจุบัน ที่จะระบุตำแหน่งความหนาแน่นของผู้ประสบภัยในพื้นที่นั้นๆ โดยมีการปิดบังข้อมูลส่วนบุคคลตามนโยบายการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
สิ่งที่แผนที่แสดง คือ ข้อมูลที่อยู่ของบุคคลตั้งแต่ตอนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ส่วนเหตุผลที่ทำให้ต้องแสดงใน 3 รูปแบบนี้ เนื่องจากเครือข่ายโทรคมนาคมในพื้นที่ประสบภัยมักใช้การไม่ได้ระยะหนึ่ง การให้ข้อมูลทั้งสามช่วงเวลา อาจทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องมากกว่า
แผนที่ที่สอง คือ แผนที่การเคลื่อนไหว (Movement Map) ซึ่งเป็นแผนที่ที่สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของผู้คนในเมือง หรือย่านชุมชนในช่วงระยะเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือสามารถเลือกที่จะดูได้ว่า ทราฟฟิกของคนเป็นเช่นไร และจะควบคุมพื้นที่ประสบเหตุได้อย่างไรบ้าง
แผนที่ชนิดที่สาม คือ การนำเครื่องมือ Safety Check เข้ามาใช้งาน โดยแนวความคิดของแผนที่นี้ คือ ไว้สำหรับแสดงข้อมูลว่า พื้นที่ไหนที่ผู้คนรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะกดเช็กอิน และแชร์ตำแหน่งของตนเองให้คนอื่นได้รู้ว่า ตัวเขารอดชีวิต เพื่อที่หน่วยงานบรรเทาทุกข์จะได้เข้าไปช่วยเหลือได้
โดยเฟซบุ๊ก ยืนยันว่า ในเบื้องต้น จะมีเพียงสามองค์กร ได้แก่ ยูนิเซฟ (Unicef) กาชาด (Red Cross) และเวิลด์ฟู้ดโปรแกรม (The World Food Programme) เท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ส่วนที่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐเลยนั้น เพราะเฟซบุ๊ก เน้นย้ำว่า นโยบายของบริษัท คือ จะแชร์ข้อมูลเฉพาะกับองค์กรใดก็ตามที่สามารถไว้วางใจได้ว่า ข้อมูลของผู้ใช้งานจะปลอดภัยนั่นเอง