xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทคปลุกประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิตอล ดึงกูรูดังสัมมนา “บล็อกเชน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค
ดีแทคจัดสัมนาใหญ่ดึงกูรูดังระดับโลก “อเล็กซ์ แทปสก็อตต์” ผู้เขียนหนังสือ BLOCKCHAIN REVOLUTION มาบรรยายเรื่อง “บล็อกเชน” กระตุ้นเศรษฐกิจดิจิตอล 4.0 ของไทย หวังสร้างโอกาส และความท้าทายใหม่ ให้ทุกภาคส่วนรับรู้ และพร้อมนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มความสามารถ เล็งเป็นเบอร์ 1 ดิจิตอลแบรนด์ก่อนใครในปี 2020

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า บล็อกเชน (Blockchain) เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนโลกดิจิตอลแบบพลิกโฉม แม้ว่าที่ผ่านมา จะเห็นเทคโนโลยีนี้อยู่เพียงแค่ในแวดวงการเงิน และการธนาคารก็ตาม ในอนาคตจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่มีบล็อกเชนเข้ามาสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้จะทำให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนได้เรียนรู้เทคโนโลยีนี้จากกูรูชื่อดัง และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่บล็อกเชนจะเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการ และรูปแบบของวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนวัตกรรม และเทคโนโลยีเหล่านี้พร้อมให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบแล้ว

“เราได้ตั้งเป้าในการเป็นอันดับ 1 ดิจิตอลแบรนด์ในปี 2020 หรือปี พ.ศ.2563 และการเตรียมพร้อมจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมไทยในอนาคต ซึ่งคาดว่า บล็อกเชนจะพลิกโฉมการดำเนินงานในทุกภาคส่วนของไทย สร้างการเติบโตให้แก่ประเทศผ่านเทคโนโลยีสอดคล้องโมเดลการพัฒนาของประเทศ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อก้าวไปพร้อมๆ กันทุกระดับทั้งภาครัฐ ราชการ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเอกชน ผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร ประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

แต่สิ่งที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยกำลังประสบ และเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมเทคโนโลยีในอนาคต คือ กรอบนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในอนาคต ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้ข้อมูลมหาศาล หรือบิ๊กดาต้า (Big Data) จากเทคโนโลยีการสื่อสารในอนาคต ด้วยโครงข่ายความเร็วสูงอย่าง 5G และ Internet of Things (IoT) ซึ่งถือเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า

โดยเป้าหมายของการส่งเสริมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิตอลอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อน และสนับสนุน เพื่อเพิ่มศักยภาพการในแข่งขัน โดยเฉพาะภาครัฐที่มีส่วนในการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ กรอบแผนงานเหล่านี้ควรมุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริม และพัฒนาของภาคธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อประโยชน์จะได้มุ่งสู่ประชาชนในการเข้าถึงการใช้งานอย่างแท้จริง รวมถึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล และความถี่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้งานในประเทศไทยด้วยศักยภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน

“เราลงทุนอย่างต่อเนื่องกว่า 7 หมื่นล้าน เพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยประเทศไทยมีประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 60% ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 40% เท่านั้น ที่มีมือถือสมาร์ทโฟนไว้ใช้งาน ซึ่งหากไทยจะก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล 4.0 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการเรียนรู้เรื่องบล็อกเชน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ก็ต้องให้ผู้ที่รู้จริงเข้ามาอธิบาย เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีในการเรียนรู้เรื่องบล็อกเชนจากกูรูชื่อดังคนนี้”

โดยงานนี้ ดีแทคได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงาน กสทช. จัดงานเสวนายิ่งในชื่อ “BLOCKCHAIN REVOLUTION” ด้วยการเชิญ กูรูระดับโลก “อเล็กซ์ แทปสก็อตต์” ผู้เขียนหนังสือ “BLOCKCHAIN REVOLUTION: How the Technology Behind Bitcoin is Changing Money, Business, and the World” ร่วมกับ ดอน แทปสก็อตต์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยอเล็กซ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัทกองทุน นอร์ธเวสต์ พาสสาจ (Venture Capital) ที่ลงทุนในบล็อกเชน ตลอดระยะเวลา 7 ปี ในตลาดทุนแคนาดา และสหรัฐอเมริกา โดยเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบล็อกเชนที่ได้รับการยอมรับ และพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
อเล็กซ์ แทปสก็อตต์ ผู้เขียนหนังสือ BLOCKCHAIN REVOLUTION
ด้านอเล็กซ์ แทปสก็อตต์ กล่าวบนเวทีว่า บล็อกเชนเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยสำหรับข้อมูลที่เปิดเผยได้ โดยแนวคิดของบล็อกเชน คือ การสร้างข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน แล้วเผยแพร่ข้อมูลนั้นๆ เก็บบันทึกลงในกล่องสี่เหลี่ยมที่ทุกกล่องจะมีข้อมูลที่เหมือนกันทุกกล่อง และเรียงร้อยทุกกล่องเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ทำให้บล็อกเชนไม่ต้องผ่านตัวกลางในการส่งข้อมูลอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่นปัจจุบัน เครื่องมือสื่อสารต้องเดินทางผ่านโอเปอเรเตอร์เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน ตอนนี้ก็เริ่มมีการพัฒนาการส่งข้อความตัวอักษรระหว่างเครื่องต่อเครื่อง (P2P : Peer to Peer) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเครือข่ายใหม่ขึ้นในอนาคต แม้ว่าตอนนี้ยังทำได้แค่ตัวอักษรเท่านั้นก็ตาม

ความท้าทายของการนำบล็อกเชนไปใช้ยังไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โลกการเงินเท่านั้น การสร้างเอกสารเพื่อการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างในประเทศฮอนดูรัส ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งผู้ที่ครอบครองที่ดินกว่า 70% เข้าใจว่า ที่ดินเป็นของตนเอง และมีกรรมสิทธิ์อย่างแน่นอน แต่แล้วการถือครองที่ดินกลับมีการเปลี่ยนเจ้าของโดยที่ไม่รู้ตัว ทำให้ต้องถูกบังคับออกจากที่ดินอย่างไร้ข้อต่อสู้ ซึ่งแน่นอนว่า บล็อกเชนจะเข้าไปช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินให้มีความถูกต้องมากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามแนวคิดของบล็อกเชนที่ว่า ข้อมูลจะต้องมีความปลอดภัย มีการเผยแพร่ และบันทึกไว้ในทุกที่อย่างเป็นธรรม เพื่อป้องกันการปลอมแปลงโดยมิชอบนั่นเอง

“ในอนาคตบริษัทที่จะเติบโตได้จะเป็นเพียงกลุ่มบริษัทที่สามารถรวบรวมสินค้า และบริการเข้ามาให้บริการแบบเป็นธรรม มีความน่าเชื่อถือ และท้ายที่สุดสามารถดำเนินการได้ตามสัญญาที่ตกลงไว้ ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า บริษัทยุคใหม่เริ่มไม่มีสินค้าเป็นของตนเอง แต่จะมีการรวบรวมสินค้า และบริการนั้นๆ ไว้ แล้วขายบริการนั้นๆ โดยที่ไม่ต้องสต๊อกสินค้าแต่อย่างใด เช่น ผู้ให้บริการอูเบอร์ เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการรถขนส่งสาธารณะแบบตัวกลาง ซึ่งโดยตัวบริษัทเองไม่ได้มีรถไว้คอยให้บริการ แต่เป็นการรวบรวมผู้ขับ และรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่นำเสนอให้บริการโดยผู้ขับขี่เองมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น เทรนด์ของการทำธุรกิจเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคต และท้ายที่สุด บล็อกเชนก็จะเข้าไปสอดแทรกการจัดการภายในเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยุติธรรมมากกว่าที่แพลตฟอร์มใดเคยทำได้”

ทั้งนี้ ดีแทคยังได้รายงานการใช้งานดาต้าผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยมือถือผ่านโครงข่ายดีแทค เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนจากตุลาคม ปี 2557 เทียบกับตุลาคม ปี 2559 เพิ่มเกือบ 200% ขณะที่ข้อมูลจาก www.internetworldstats.com ในเดือนมิถุนายน ปี 2559 รายงานการจัดอันดับ 20 ประเทศที่มีผู้ใช้งานการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงสุด มีประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 19 ของโลก โดยไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 41 ล้านคน จากประชากรไทยประมาณ 68.2 ล้านคน โดยเพิ่มสูงถึง 1682.6% เมื่อเทียบกับการใช้งานปี 2543-2559 แสดงว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาสู่ดิจิตอลอย่างเร็ว และน่าสนใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น