xs
xsm
sm
md
lg

Review รีวิวสินค้าไอที สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก

x

ฟอร์ติเน็ตลงทุนในไทยเพิ่ม 15% ตอกย้ำผู้นำตลาดซิเคียวริตี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพีระพงศ์ จงวิบูลย์ รองประธานแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ฮ่องกง ฟอร์ติเน็ต
ฟอร์ติเน็ต ตอกย้ำเบอร์หนึ่งตลาดซิเคียวริตีในไทย ลั่นลงทุนเพิ่ม 15% เปิดโซลูชัน เซ็นเตอร์ ให้ความรู้ด้านความปลอดภัย พร้อมเพิ่มพนักงาน 15% หวังรักษาความเป็นผู้นำในตลาดภาครัฐ และการศึกษา รวมถึงการรุกตลาดโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น รับเทรนด์ IoT

นายพีระพงศ์ จงวิบูลย์ รองประธานแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฮ่องกง ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ปีนี้บริษัทยังคงเป็นผู้นำในตลาดซิเคียวริตี โดยบริษัทมีอัตราการเติบโตมากกว่าตัวเลขการเติบโตของตลาดรวม 5% ขณะที่กลุ่มตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฮ่องกงโตกว่าภาพรวมตลาด 17% ทั้งนี้ ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ระบุถึงภาพรวมมูลค่าตลาดซิเคียวริตีในประเทศไทยปีนี้ว่า มีมูลค่า 58 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดการณ์ว่าปีหน้าจะมีมูลค่า 68 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตขึ้น 17%

ดังนั้น กลยุทธ์การตลาดในปีหน้าบริษัทจะลงทุนในไทยเพื่ม 15% ด้วยการเปิดโซลูชัน เซ็นเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์เวิร์กชอปให้ความรู้ด้านซิเคียวริตี และเพิ่มทีมงานอีก 15% เพื่อรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งไว้ โดยกลุ่มตลาดหลักของบริษัทคือ กลุ่มภาครัฐ และภาคการศึกษา ขณะเดียวกันก็จะรุกตลาดโทรคมนาคมเพิ่มขี้นด้วย เนื่องจากเมื่อเทคโนโลยี LTE เข้ามาการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือก็จะเพิ่มขึ้น ประกอบกับเทรนด์ Internet of Things (IoT) เริ่มเข้ามายิ่งทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกันได้ ดังนั้น การใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วย

“การสร้างโซลูชัน เซ็นเตอร์ ด้านซิเคียวริตีให้เห็นภาพจริงนอกเหนือจากกระดาษนั้น นับว่าเราเป็นเจ้าแรกที่ทำ หลังจากที่ทำในฮ่องกงมาแล้ว คาดว่าภายในไตรมาสแรกปีหน้าในไทยจะเสร็จ” นายพีระพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ ทีมวิเคราะห์ฟอร์ติการ์ตแล็ปส์ของฟอร์ติเน็ตได้เผยเทรนด์ภัยไซเบอร์ในปีหน้าว่าภัยจะฉลาดมากขึ้น มัลแวร์จะทำงานเองเหมือนมนุษย์ สามารถดัดแปลง ระบุหาเหยื่อหาวิธีที่จะคุกคาม เรียนรู้เองจากความสำเร็จที่ผ่านๆ มา เพื่อจะพัฒนาการคุกคามของตนเองให้ดีขึ้น รวมทั้งหาวิธีที่ให้รอดจากการโดนดักจับ ดังนั้น เรื่องความปลอดภัยของ IoT จะเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเกินกว่าหน่วยงานรัฐบาลจะเพิกเฉยได้ถ้าผู้ผลิตไม่สามารถป้องกันอุปกรณ์ IoT ให้ดีขึ้น จะส่งผลแก่เศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก และผู้บริโภคอาจลังเลในการซื้อสินค้า IoT เนื่องจากกลัวด้านความปลอดภัย

นอกจากนี้ จะเกิดความนิยมใช้ระบบอาคารอัตโนมัติ (Building automation) และการจัดการแบบอัตโนมัติมากมาย และหลายประเทศกำลังสร้างสมาร์ทซิตี จะมีการเชื่อมโยงโครงข่ายของสมาร์ทซิตีมากมาย เช่น บริการฉุกเฉิน การควบคุมสัญญาณไฟจราจร อุปกรณ์ IoT (เช่น รถไร้คนขับ) อุปกรณ์ที่ช่วยทำการลงคะแนนเสียงโหวต การชำระบิล การส่งสินค้าเหล่านี้อาจตกเป็นเป้าหมายของแฮกเกอร์ได้มากขึ้น

รวมทั้ง แรมซัมแวร์ หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ จะทำงานโดยอัตโนมัติมากขึ้น แรนซัมแวร์จะช่วยให้แฮกเกอร์สามารถรีดไถเงินก้อนเล็กก้อนน้อยจากเหยื่อที่มีจำนวนมากไปพร้อมๆ กันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะกำหนดเป้าหมายไปที่อุปกรณ์ IoT เช่น การเรียกค่าไถ่ที่จะปลดล็อกรถ ปลดล็อกสัญญาณเตือนไฟไหม้ที่บ้าน หรือปลดล็อกฮาร์ดไดรฟ์ แรนซัมแวร์จะยังคงมุ่งเป้าหมายไปที่อุตสาหกรรม และองค์กรให้บริการสาธารณสุข เนื่องจากข้อมูลของผู้ป่วยด้านการแพทย์มีค่ามาก และสามารถนำไปปลอมแปลงได้ นอกจากนี้ ธุรกิจที่รวบรวมข้อมูลมากๆ จะตกเป็นเหยื่อแรนซัมแวร์ เช่น สำนักงานกฎหมาย หน่วยงานราชการ สถาบันการเงิน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น