xs
xsm
sm
md
lg

โนเกีย ชี้กรุงเทพฯ เป็นเมืองอัจฉริยะระดับปานกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายฮาราลด์ ไพรซ์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเอเชียเหนือ บริษัทโนเกีย
โนเกีย เผยผลสำรวจ 22 ประเทศทั่วโลก พบกรุงเทพฯ มีระดับการเป็นเมืองสมาร์ทซิตี ระดับปานกลาง ในแง่ของความสมาร์ท และซีเคียวริตี ขณะที่เรื่องความยั่งยืนอยู่ในระดับน้อย ชี้กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองอัจฉริยะที่สุดในประเทศไทย แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้ภูเก็ต เป็นเมืองอัจฉริยะนำร่องก็ตาม ส่วนแนวทางในการสร้างเมืองอัจริยะในกรุงเทพฯพบว่า เลือกใช้แนวทางเบต้า ซิตี คือ ทดลองใช้ก่อนนำมาใช้จริง แม้จะเห็นผลเร็ว แต่อาจมีความท้าทายในการทำงานร่วมกันของโครงการต่างๆ แนะภาครัฐต้องมีกฎระเบียบที่โปร่งใสในการใช้ฐานข้อมูล และเลือกใช้แอปพลิเคชั่นระบบเปิด เพื่อให้แต่ละแอปพลิเคชั่นสามารถทำงานร่วมกันได้

นายฮาราลด์ ไพรซ์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเอเชียเหนือ บริษัทโนเกีย กล่าวว่า กระบวนการในการสร้างเมืองอัจฉริยะนั้น มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง และมีการนำเสนอกลยุทธ์ที่แตกต่างกันจำนวนมาก ทำให้การเลือกแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างเมืองอัจฉริยะกลายเป็นความท้าทายอย่างมหาศาล จากผลการจัดทำ “Smart City Playbook” หรือคู่มืออัจฉริยะ โดย มาคิน่า รีเสิร์ช ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลทางการตลาดชั้นนำเรื่อง “Internet of Things : IoT” พบว่า การดำเนินการสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของกรุงเทพฯ มีความก้าวหน้าในเรื่องความเป็นอัจฉริยะ และความปลอดภัยในระดับปานกลาง ขณะที่เรื่องของความยั่งยืนในการใช้แอปพลิเคชั่นได้รับคะแนนระดับน้อย แต่กรุงเทพฯ ก็ยังมีโอกาสในการก้าวสู่เมืองอัจฉริยะในระดับขั้นก้าวหน้าได้ โดยนอกจากกรุงเทพฯ รัฐบาลไทยก็มีแผนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือแผนดีอี ในการสร้างจังหวัดหัวเมืองสำคัญ เช่น ภูเก็ต ขอนแก่น และเชียงใหม่ เป็นเมืองอัจฉริยะด้วย ซึ่งโนเกีย ก็พร้อมร่วมงานกับรัฐบาล และมีการเสนอโซลูชั่นในการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของเมืองต่างๆ ใน 22 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย นั้น สามารถสรุปได้ 3 แนวทางในการเลือกใช้ โดยแนวทางแรก เปรียบเสมือนการทอดสมอ กล่าวคือ เมืองใช้วิธีจัดทำแอปพลิเคชั่นหนึ่งตัวเพื่อนำมาจัดการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งในเมืองก่อน เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด และภายหลังจึงเพิ่มแอปพลิเคชั่นอื่นๆ แนวทางที่สอง คือ เริ่มต้นด้วยการสร้างแพลตฟอร์ม หรือโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับแอปพลิเคชั่น และบริการอัจฉริยะต่างๆ ส่วนแนวทางสุดท้าย คือ เมืองเบต้า ซึ่งเป็นวิธีที่แตกต่างจากวิธีอื่นๆ โดยมีการนำหลายแอปพลิเคชั่นมาทดลองเป็นระบบนำร่องก่อนที่จะตัดสินใจมาปฏิบัติใช้ในระยะยาว

โดยแนวทางนี้เป็นทางเลือกที่ประเทศไทยนำมาใช้เช่นเดียวกับ เมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ, ประเทศฝรั่งเศส, เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล และกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งกรุงเทพฯ นับว่าเป็นเมืองอัจฉริยะที่รุดหน้าที่สุดในประเทศไทย แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้ภูเก็ต เป็นเมืองอัจฉริยะนำร่องก็ตาม โดยทางเลือกนี้มีการนำเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจมาปรับใช้เพื่อผลประโยชน์ที่ชัดเจนในระยะสั้นถึงระยะกลาง ถึงแม้ว่าโครงการนำร่องที่ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง และเห็นผลเร็ว แต่ยังคงมีความท้าทายในการทำงานร่วมกันของโครงการต่างๆ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมืองที่จะประสบผลสำเร็จจะต้องมีกฎระเบียบที่โปร่งใสในการใช้ฐานข้อมูลที่จำเป็นจากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเปิดเผยสู่สาธารณชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่าย เพื่อรองรับกับค่าบริหาร และการจัดการฐานข้อมูล โดยหลายเมืองที่อยู่ในขั้นก้าวหน้า ผู้ใช้งานทั้งจากใน และนอกภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูล และเทคโนโลยีการสื่อสาร และ IoT และเมืองเหล่านี้หลีกเลี่ยงการสร้างการแบ่งแยกระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ส่งเสริมให้ประชากรเข้าไปมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเมืองสู่เมืองอัจฉริยะ มักจะประสบความสำเร็จมากกว่า โดยเฉพาะในส่วนที่สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และชัดเจน เช่น ที่จอดรถอัจฉริยะ และแสงสว่างอัจฉริยะ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะต้องสามารถปรับขนาดได้ เพื่อที่จะสามารถเติบโต และรองรับความต้องการในอนาคต อีกทั้งยังมีความปลอดภัยสำหรับข้อมูลของทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่สำคัญ เมืองที่เลือกพันธมิตรเทคโนโลยีสามารถเอื้ออำนวยนวัตกรรม และลงทุนในการจำลองประสบการณ์จริง รวมทั้งมีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเปิดที่ป้องกันการผูกขาด จะมีความได้เปรียบในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น