xs
xsm
sm
md
lg

“ซิป้า” เผยแนวโน้มมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ลด แต่ไปเพิ่มในบริการอื่นแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซิป้า เผยผลสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ ปี 2558 พบว่า มีการเติบโตจากปีก่อนหน้า 1.2% เป็น 52,561 ล้านบาท พบกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดกลางที่มีรายได้ 100-500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ส่วนแนวโน้มในอนาคตมีโอกาสเติบโตลดลงจากการที่ซอฟต์แวร์ถูกนำไปให้บริการ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น

นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า กล่าวว่า การเปิดเผยผลสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐ และเอกชน นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนนโยบายต่างๆ พร้อมรวบรวมข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) ในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์

สำหรับ การสำรวจมูลค่าซอฟต์แวร์ในปีที่ผ่านมา แบ่งออกเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 14,068 ล้านบาท เติบโต 0.1% และบริการซอฟต์แวร์ 38,493 ล้านบาท เติบโต 1.6% จากปีก่อนหน้า ส่วนในปีนี้ และปีหน้า คาดการณ์ว่าซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจะเป็น 14,940 ล้านบาท เติบโตคิดเป็น 6.2% และ 15,738 ล้านบาท คิดเป็น 5.3% ส่วนบริการซอฟต์แวร์เป็น 39,953 ล้านบาท (เติบโต 3.8%) และ 41,519 ล้านบาท (3.9%) ส่งผลให้มูลค่ารวมของตลาดซอฟต์แวร์ในปี 2558 คิดเป็น 52,561 ล้านบาท เติบโต 1.2% และคาดการณ์ว่า ในปี 2559 และ 2560 จะเพิ่มเป็น 54,893 ล้านบาท เติบโต 4.4% และ 57,257 ล้านบาท เติบโต 4.3% ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตลดลง เนื่องจากมูลค่ารายได้จะไปเพิ่มในส่วนอื่นแทนการใช้จ่ายทางด้านซอฟต์แวร์

ส่วนซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว ที่มีมูลค่า 6,039 ล้านบาท เติบโต 3.5% จากปัจจัยการขยายตัวของผู้ออกแบบ และพัฒนาระบบซอฟต์แวร์สมองกลที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง กับการพัฒนาเพื่อใช้กับสินค้าของบริษัท และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีการเติบโตเป็น 6,340 ล้านบาท คิดเป็น 5% และเป็น 6,778 ล้านบาท หรือ 6.9% ในปี 2560

“ประการสำคัญที่ทำให้ตลาดมูลค่าซอฟต์แวร์เติบโตน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากการชะลอตัวของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลให้กลุ่มที่มีการเติบโตทางธุรกิจในปี 2558 กลายเป็นบริษัทขนาดกลางที่มีรายได้ระหว่าง 100-500 ล้านบาท ที่ไม่ได้อิงรายได้จากโครงการขนาดใหญ่”

ไม่นับรวมกับการที่ตลาดกำลังอยู่ในการปรับตัว ทั้งมุมของผู้ใช้ และผู้ผลิต รวมถึงแนวโน้มผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่มาเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม รวมถึงการเข้ามาของ SaaS และเวนเดอร์ต่างชาติที่ทำให้ราคาซอฟต์แวร์ลดลง แม้มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี ให้ข้อมูลเสริมว่า แนวโน้มของมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์มีโอกาสที่จะเติบโตลดลง จากการมาของเทคโนโลยีคลาวด์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับมูลค่าบริการซอฟต์แวร์ รวมถึง IoT ที่กระทบต่อมูลค่าอุตสาหกรรมสมองกลฝังตัว ที่เป็นแนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการนำบิ๊กดาต้ามาใช้งานในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้งานในธุรกิจมากขึ้น

ขณะ เดียวกันยังมีการสรุปสถานะการใช้ไอทีในประเทศไทย แบ่งเป็น จำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มจาก 27.6 ล้านคน เป็น 38 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์จาก 5.4 ล้านราย เป็น 6.2 ล้านราย การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 126% คิดเป็นจำนวนสมาร์ทโฟนราว 17.9 ล้านเครื่อง และมูลค่าตลาดการสื่อสารอยู่ที่ 535,989 ล้านบาท เติบโต 7.3% โดยแบ่งเป็น ฮาร์ดแวร์ 309,405 ล้านบาท และบริการด้านสื่อสาร 255,734 ล้านบาท

ส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ 31,274 ล้านบาท คิดเป็น 1.1% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกในประเทศ และมีมูลค่าการจองที่พัก และสายการบินออนไลน์ 135,538 ล้านบาท คิดเป็น 36% ของมูลค่าทั้งหมด ขณะที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งทั้งหมด 11.9 ล้านราย และโมบายแบงกิ้ง 10.4 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจมูลค่าซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ที่นำเข้า 32,944 ล้านบาท และมูลพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในองค์กรที่มีมูลค่า 14,903 ล้านบาท ส่วนจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ด้านเทคโนโลยี (Tech-Startup) พบว่ามีจำนวน 348 รายในประเทศไทย มีมูลค่าการระดมทุนที่สามารถเปิดเผยได้ 1,188 ล้านบาท

Company Relate Link :
SIPA
กำลังโหลดความคิดเห็น