xs
xsm
sm
md
lg

ซิป้า คลอดแพลตฟอร์มหนุนท่องเที่ยวไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ ซิป้า
ซิป้าจับมือกระทรวงท่องเที่ยวฯ คลอด 3 แพลตฟอร์มสำคัญ หลังเจอวิกฤตระบบอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมท่องเที่ยวโลก เตรียมออกมาตรฐานระบบค้นหาชื่อ และตำแหน่งของโรงแรมไทยรองรับการสืบค้นทุกระบบ พร้อมสร้างระบบบริหารการจองโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดต่อเชื่อมทุกเว็บดังทั่วโลก และนำระบบ B2B ให้กลุ่มเอสเอ็มอีเชื่อมเข้าระบบแพกเกจของเอเยนต์ทัวร์ทั่วโลก

นายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า กล่าวว่า ซิป้าได้จับมือกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในการทำ 3 แพลตฟอร์ม เพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ได้แก่ 1.การทำ Hotel Channel Management 2.การคิดคำในการเสิร์ชให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ 3.การสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลสินค้า และบริการของเอสเอ็มอีไทย

โดยที่ Hotel Channel Management เป็นแพลตฟอร์มกลางเพื่อทำหน้าที่กรอกข้อมูล และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการซื้อขายในเว็บ และแอปพลิเคชันของระบบจองโรงแรม เพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากในการอัปเดตข้อมูลโรงแรม ซึ่งปัจจุบัน โรงแรมไม่เพียงแต่มีหน้าเว็บไซต์จองโรงแรมของตัวเอง แต่มีการใช้เว็บไซต์จองโรงแรมอีกหลายเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางในการทำตลาด แต่การอัปเดตข้อมูลเจ้าของโรงแรมเองจะต้องทำการอัปเดตข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นราคา จำนวนห้องพักที่มีในทุกเว็บไซต์ ทำให้เสียเวลา ดังนั้น ระบบนี้จะช่วยให้เจ้าของโรงแรมสามารถอัปเดตข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มเดียว โดยข้อมูลจะลิงก์ไปยังทุกเว็บไซต์ที่ต้องการอัปเดต

ทั้งนี้ ระบบที่มีทั้งเทคโนโลยี pushing และ pulling ตัวระบบจะมีความซับซ้อนพอๆ กับระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหุ้น เพราะแต่ละการจองห้องจะต้องลด และเพิ่มในที่ต่างๆ จำนวนมากในเวลาเดียวกัน ซึ่งในตลาดโลกตอนนี้ทำได้เพียงระบบใดระบบหนึ่ง ไม่สามารถพัฒนาสองระบบได้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน แต่ระบบที่ซิป้าพัฒนาจะทำได้ และจะเป็นแห่งแรกของโลกอีกเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ระบบพัฒนาไปได้ 60% แล้ว และจะเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้ในราคาถูกกว่าแพลตฟอร์มของต่างชาติ

สำหรับแพลตฟอร์มในการสร้างคำค้นสำหรับการท่องเที่ยวให้เป็นมาตรฐานเดียวกันนั้น เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมีการใช้เครื่องมือเสิร์ชเอนจิ้น ในการค้นหาชื่อ และตำแหน่งของโรงแรม ทำให้การคิดคำในการค้นหาต้องใช้ได้ผลแม่นยำ แต่ปัญหาของผู้ประกอบการ คือ ยังใส่คำสะกดที่ไม่มีมาตรฐานเหมือนกัน จึงมีผลให้นักท่องเที่ยวเสิร์ชคำหาไม่เจอ ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น 100% แล้ว เหลือเพียงรอการประกาศจากหน่วยงานมาตรฐาน หลังจากนั้น ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะสามารถนำไปใช้ และสร้างเป็นมาตรฐานให้เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกของโลกเลยทีเดียว

ส่วนการสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลสินค้า และบริการของเอสเอ็มอีไทย จะเป็นแพลตฟอร์มกลางให้กับผู้ขายรายย่อยระดับเอสเอ็มอี ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กับบริษัททัวร์เอเยนต์ที่มีอยู่ทั่วโลก เพราะระบบการขายแพกเกจท่องเที่ยวในปัจจุบัน บริการต่างๆ ของท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการขายของที่ระลึก การให้เช่ารถ การให้เช่าเรือท่องเที่ยว และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับบริษัททัวร์เอเยนต์ ซึ่งมักจะเป็นการติดต่อกับระหว่างทัวร์เอเยนต์ต้นทางกับทัวร์เอเยนต์ปลายทาง โดยที่ทัวร์เอเยนต์ปลายทางจะเป็นผู้กุมชะตาการนำเสนอทั้งหมดเอาไว้ ซึ่งทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยจะเข้าถึงได้ยาก และมักขาดโอกาสในการตลาด จึงจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มที่รวบรวมสินค้า และบริการของเอสเอ็มอีการท่องเที่ยวไทยรวมกันขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้เอเยนต์ต่างๆ ทั่วโลกได้ใช้เป็นทางเลือก

อย่างไรก็ตาม ซิป้าได้ใช้เวลาถึง 2 ปีในการสร้างแพลตฟอร์มทางด้านไอที เพื่อรองรับปัญหาการท่องเที่ยวไทย ทั้งเพื่อกำหนดสิ่งที่ควรเป็นมาตรฐาน สิ่งที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาว และช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระดับรากหญ้า โดยมองที่ไอทีจะเข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งเกิดจากการที่ซิป้าลงลึกเข้าไปในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจริงๆ เข้าไปค้นหาปัญหา และหาทางแก้ไขให้ถูกจุดที่สุด

ด้าน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า แม้เทคโนโลยีปัจจุบันจะเริ่มเอื้อให้ธุรกิจขนาดเล็กได้เข้าถึงลูกค้าต่างๆ ด้วยต้นทุนที่น้อยลง และเปิดกว้างมากขึ้น แต่สำหรับในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การที่ธุรกิจขนาดเล็กจะต่อสู้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างองค์กรทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบเอเยนต์ทั้งใน และต่างประเทศที่เชื่อมถึงกัน ระบบการซื้อขายแบบ Business to Business หรือ B2B ที่ทำให้เกิดแพกเกจการขายในราคาที่ต่ำ และอื่นๆ ก็ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีเส้นสาย หรือไม่ได้ทำตามข้อกำหนดของเอเยนต์ใหญ่ ไม่สามารถส่งสินค้า และบริการของตนเองไปยังนักท่องเที่ยวทั้งหลายได้

หากพิจารณาจากการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเสริมแล้ว การท่องเที่ยวแบบ individual หรือแบบส่วนตัวจะเพิ่มมากขึ้น จะมีการค้นหาสินค้า และบริการต่างๆ จากเสิร์ชเอนจิ้น และแอปพลิเคชันใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าหากปล่อยตามธรรมชาติแล้ว ธุรกิจเล็กๆ กลุ่มนี้จะไม่สามารถสร้างตลาด หรือสร้างเครือข่ายออนไลน์ และช่องทางที่ไฮเทคขึ้นมาเองได้อย่างแน่นอน โดยแนวโน้มที่จะค่อยๆ เกิดขึ้นก็คือ จะมีผู้ผลิตตลาดออนไลน์ หรืออื่นๆ ขึ้นมาเพื่อชิงส่วนแบ่งกำไร เป็นค่าการตลาดของสินค้า และบริการท่องเที่ยวไทยขึ้นมาอีก เหมือนเช่นที่ผู้ให้บริการทางด้านโรงแรมประสบมาแล้ว

ดังนั้น แนวทางแก้ไขที่ซิป้าร่วมหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาตลอดก็คือ ทำอย่างไรให้เปิดโอกาสให้ธุรกิจเล็กๆ กลุ่มนี้ได้มีโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ๆ และพฤติกรรมการบริโภคใหม่ๆ ของนักท่องเที่ยว รวมถึงการเข้ามาใช้ระบบไอทีของพวกเอเยนต์ทัวร์ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งข้อสรุปส่วนหนึ่ง คือ การต้องมีแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายแบบ B2B ที่ต้องรองรับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กแบบเปิดเสรี

โดยระบบนี้จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบของการเป็นหน่วยย่อย หรือ sub-contact ที่ธุรกิจท่องเที่ยวเดิมทำกับเอเยนต์ กลุ่มนี้ยังสามารถจัดทำแพกเกจวางระบบจำหน่าย หรือให้บริการผ่านตัวแทนเพื่อนำเสนอต่อเอเยนต์ทัวร์ต่างประเทศอยู่เหมือนเดิม แต่แพลตฟอร์มใหม่จะขอความสมัครใจจากธุรกิจท่องเที่ยว และบริการทั้งหมด เล็ก กลาง ใหญ่ ที่ต้องการนำสินค้า และบริการของตนเองมาเสนอต่อเอเยนต์ทัวร์ต่างประเทศโดยตรง ซึ่งมันจะเป็นทางเลือกใหม่ เพื่อมูลค่าใหม่ให้กับตลาด นอกจากป้องกันการผูกขาดจากการกำหนดของเอเยนต์ทัวร์ในประเทศ ยังทำให้สินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยได้แข่งขัน ทั้งในด้านราคา และประสิทธิภาพที่สมเหตุสมผลอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น