“อุตตม” คาดภายในเดือน ก.ย.นี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ฤกษ์ตั้งอย่างเป็นทางการ เร่งใช้เวลา 3 เดือนปรับโครงสร้างกระทรวงใหม่ ผุดสำนักงานทำตามคำสั่งคณะกรรมการดีอีใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ส่วน “ซิป้า” ยังไม่ยุบ แต่ให้เพิ่มสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นองค์การมหาชนอีกหนึ่งหน่วยงาน เน้นส่งเสริมความรู้-เงินทุนแก่ผู้ประกอบการ ยันแล้วแต่ผู้ใหญ่พิจารณาว่าจะให้นั่งเป็น รมว.กระทรวงใหม่หรือไม่
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ภายในเดือน ก.ย.นี้ กระทรวงไอซีที จะสามารถปรับโครงสร้างกระทรวงแล้วเสร็จ และเปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีทีเป็น “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 เพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน
สำหรับสำนักงานใหม่ที่จะเพิ่มเติมขึ้นมาภายใต้โครงสร้างกระทรวงใหม่นี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหัวหน้าส่วนราชการ โดยมีหน้าที่รองรับนโยบายการทำงานจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นอกจากนี้ จะมีสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นหน่วยงานรูปแบบองค์การมหาชน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนโครงการต่างๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในรูปแบบให้ความรู้ หาบุคลากร ตลอดจนเงินทุนในการส่งเสริมเพื่อให้โครงการต่างๆ ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังต้องมีการจัดตั้งกองใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการทำงานของสำนักใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น กองนโยบายและแผน อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
ขณะที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่ต้องย้ายไปขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำหน้าที่เตือนภัยในระดับชาติ ส่วนสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ยังไม่ถูกยุบหน่วยงานเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตามที่เป็นข่าว แต่จะยังคงมีหน่วยงานนี้ เช่นเดียวกับกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยังเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงใหม่นี้
ส่วนการปรับเปลี่ยนบุคลากรในองค์กรขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ต้องย้ายคนออก หรือเพิ่มคนเข้ามากน้อยเพียงใด ต้องดูตามความสามารถ และพันธกิจของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งการทำงานจะต้องสอดคล้องกันต่อแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกัน กระทรวงก็ต้องเร่งทำโครงการการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) เพื่อรองรับการเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของกระทรวงใหม่ และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มาดูเรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวงอย่างจริงจังอีกด้วย
นายอุตตม กล่าวว่า ตอนนี้กระทรวงมีเวลาประมาณ 3 เดือนที่ต้องเตรียมตัวไปสู่กระทรวงใหม่ เพราะคาดว่าขั้นตอนต่างๆ หลังจาก สนช.เห็นชอบแล้วจะใช้เวลาแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย. ซึ่งตนเองได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวง นางทรงพร โกมลสุรเดช เป็นประธานในการตั้งคณะทำงานการปรับโครงสร้างกระทรวง จากนั้นต้องเสนอโครงสร้างกระทรวงต่อ ก.พ.ร.ให้เห็นชอบ และส่งต่อไปยังกฤษฎีกาเพื่อพิจารณา และเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
“ตอนนี้เรายังคิดชื่อกระทรวงใหม่เป็นภาษาอังกฤษไม่ออก แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อกระทรวงใหม่เสร็จ ผมต้องหลุดจากตำแหน่ง เพราะผมมาเป็นรัฐมนตรีไอซีที ไม่ใช่รัฐมนตรีกระทรวงดีอี ส่วนผู้ใหญ่จะแต่งตั้งผมต่อหรือไม่นั้นต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่ปลัดยังคงต้องทำหน้าที่ปลัดต่อไปเพราะเป็นข้าราชการประจำ”
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะยังคงเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลการสร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล การปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิตอล การพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล และยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ภายใต้ 4 เป้าหมายหลักในการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม ทุนมนุษย์ และภาครัฐ แบ่งเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ระยะ 1 ปี 6 เดือน ระยะ 5 ปี ระยะ 10 ปี จนถึงระยะ 20 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ และสังคมดิจิตอลเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิตการดำเนินธุรกิจการค้า ด้านการบริการ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศให้ดีขึ้น