เวอร์ริทัส ผู้ให้บริการการจัดการข้อมูลองค์กร เผยผลสำรวจการจัดเก็บข้อมูลองค์กรทั่วโลก เฉพาะส่วนที่ไม่สามารถแยกแยะได้ พบเป็นข้อมูลขยะกว่า 85% มีเพียง 15% ที่เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งสร้างรายจ่ายที่ไม่จำเป็นรวมกันกว่า 115 ล้านบาทต่อปี แนะสร้างการจัดการข้อมูลที่ดีช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร
นายประมุท ศรีวิเชียร ผู้จัดการอาวุโสประจำประเทศไทย บริษัท เวอร์ริทัส เทคโนโลยี ประจำประเทศไทย กล่าววว่า จากรายงานของ VERITAS Databerg ซึ่งเป็นการสำรวจการจัดการข้อมูลขององค์กรชั้นนำทั่วโลกกว่า 22 ประเทศ พบว่าข้อมูลที่จัดเก็บกว่า 85% กลับเป็นข้อมูลที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด โดยมีข้อมูลเพียง 15% เท่านั้นที่เป็นประโยชน์ และที่สำคัญองค์กรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูลที่ไร้ค่าคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 115 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินมหาศาล
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ข้อมูลที่พบจำแนกออกเป็น 1.Business Critical Data ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่มีความสำคัญต่อธุรกิจขององค์กร โดยมีสัดส่วนเพียง 15% 2.ROT Data ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อน โดยในอดีตอาจจะมีการเรียกใช้งาน แต่ปัจจุบันไม่มีการใช้งานแต่อย่างใด มีสัดส่วนกว่า 33% ขณะที่ 3.Dark Data ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่ผู้ดูแลไม่ได้สนใจ หรือไม่รู้ที่มาที่ไป และไม่เคยถูกเรียกขึ้นมาใช้งานแต่อย่างใด มีสัดส่วนอยู่ที่ 52% โดยกลุ่มข้อมูลทั้งหมดสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของการใช้งานศูนย์ข้อมูลอย่างไร้ประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อช่วยลดต้นทุนในการจัดการระบบฐานข้อมูลสามารถทำได้ด้วยการ 1.ควรวางแผนประเมินการเติบโตของข้อมูลตามคุณค่าที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรเป็นสำคัญ 2.ควรติดตาม และควบคุมการใช้ปริมาณคลาวด์ฟรีของพนักงาน เพื่อช่วยลดข้อมูลที่ไม่เกิดประโยชน์กับองค์กรลงได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงของการละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนทำให้เกิดการบริหารจัดการข้อมูลที่ง่ายในอนาคต และ 3.อย่าปล่อยให้พนักงานนำข้อมูลบริษัทปะปนกับข้อมูลส่วนตัว เพื่อลดความเสี่ยงข้อมูลเฉพาะพนักงาน และลดปริมาณข้อมูลที่ไม่จำเป็น
“การเติบโตของธุรกิจด้านไอที มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางของการจัดการข้อมูลเป็นเทรนด์ของการจัดการที่ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผลชัดเจนมากที่สุด ซึ่งจากการสัมมนาของกลุ่มผู้บริหารไอทีขององค์กรใหญ่ๆ ในประเทศไทย พบว่าหลายองค์กรให้ความสนใจในการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหลายรายได้มีการวางแผนอย่างชัดเจน”
ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของข้อมูลที่จัดเก็บแบบไร้ประโยชน์ขององค์กร คาดว่าจะมีมากกว่า 44 ZB ต่อปี ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องสูญเสียกว่า 30 ล้านล้านบาท ภายในปี 2020 ซึ่งหากเทียบกับข้อมูลไอดีซี ซึ่งระบุว่า ประมาณการลงทุนด้านไอซีทีของไทยในแต่ละปีจะสูงถึงราว 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการลงทุนเพื่อการจัดการกับข้อมูลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพขององค์กรอยู่เพียงราว 5% เท่านั้น นับเป็นสัดส่วนการจัดการที่น้อยนิด แต่สร้างประสิทธิภาพ และลดต้นทุนให้เกิดขึ้นกับองค์กรได้อย่างยั่งยืน