กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) จับมือไมโครซอฟท์ แถลงผลการจับกุมร้านจำหน่ายออนไลน์ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ด้วยซอฟต์แวร์ดักจับการละเมิดออนไลน์ ระบุการละเมิดครั้งนี้มีการเลียนแบบที่เหมือนของจริงมากกว่าทุกครั้ง พร้อมแนะ 5 แนวทางเลือกใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ป้องกันอันตรายจากการโจมตีของผู้ไม่หวังดี
พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (รอง ผบก.ปอศ.) เปิดเผยว่า การเข้าตรวจค้น หจก.เอ็มทีซี เอ็นเตอร์ไพรส์ เลขที่ 58/28 หมู่ที่ 3 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ต.ชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.59 พบแผ่นดีวีดีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์เปเรชั่น ที่ทำขึ้นเลียนแบบได้เหมือนมาก จำนวน 423 ชิ้น ทั้งวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2012, วินโดวส์ 10 โปร ยูเอสบี บ๊อกซ์ และ ออฟฟิศโฮม แอนด์ บิสสิเนส 2016 จึงได้จับกุมตัวเจ้าของผู้จำหน่ายสินค้าดังกล่าว และแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ด้วยการขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขายซึ่งงานวรรณกรรม (โปรแกรมคอมพิวเตอร์) โดยไม่ได้รับอนุญาต และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน และดำเนินคดีฐานละเมิดพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 8 แสนบาท
“การจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปี 2558 พบว่า มีอัตราส่วนที่ลดลงจากเดิมปี 2557 คิดเป็นจำนวนกว่า 71% เหลือเพียง 69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน โดยนโยบายของ บก.ปอศ.ยังคงให้ความสำคัญกับการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในทุกรูปแบบ เพื่อลดปัญหาการละเมิด ทั้งด้านลิขสิทธิ์เพลง ภาพยนตร์ สินค้าทั้งหมด”
ทั้งนี้ การจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นับตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายนที่ผ่านมา พบการละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 115 คดี แบ่งเป็นของกลางเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 1,122 เครื่อง และมูลค่าซอฟต์แวร์กว่า 197.5 ล้านบาท โดยบริษัทที่ละเมิดมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 72.1 ล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่าการละเมิดเฉลี่ยต่อบริษัทที่ 1.84 ล้านบาท
ด้าน นางสาวกฤติยา เอี่ยมศิริ SAM and Compliance Lead บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิด ด้วยทีมงานที่ตรวจสอบทางด้านซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยขั้นตอนการทำงานได้ โดยหวังว่าจะเกิดความร่วมมือเช่นนี้อีกในอนาคต เพื่อปราบปรามการกระทำความผิดด้านลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
ทั้งนี้ การจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งนี้มีความคล้ายคลึงสินค้าของจริงแบบก็อปเกรดเอมากขึ้น จึงอยากแนะแนวทางของการตรวจสอบ หรือเลือกใช้สินค้าถูกลิขสิทธิ์ของผู้บริโภค โดยแบ่งเป็นแนวทาง คือ 1.การเลือกซื้อเครื่อง และซอฟต์แวร์ควรเลือกผู้จัดจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ และเรียกหาซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์แท้เท่านั้น 2.สังเกตสติ๊กเกอร์ด้านหลังเครื่อง หากเป็นเครื่องที่มาพร้อมซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ 3.การเลือกซื้อซอฟต์แวร์ออนไลน์ หากราคาต่ำเกินจริง หรือมีการแยกติดสติ๊กเกอร์ให้คาดเดาก่อนว่า เป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ และ 4.สามารถแจ้งเบาะแสซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์ www.stop.in.th และ www.ecdpolice.com หรือ Facebook page ของ บก.ปอศ. และสายด่วน 02-714-1010 ได้ทันที