กรุงเทพโพลล์สำรวจคนไทย 53% ชี้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้น 89% เชื่อหากแก้ไขไม่ได้ กระทบการค้นคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ 57% พอใจการแก้ปัญหาของรัฐบาล 78% หนุนเอาผิดผู้ซื้อ
เนื่องด้วยวันที่ 26 เมษายนของทุกปี เป็นวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาในสายตาประชาชน” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,178 คน
ผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.7 เห็นว่าปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยในปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม รองลงมาร้อยละ 16.6 เห็นว่ามีเท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ 12.3 เท่านั้นที่เห็นว่าลดลงกว่าเดิม
ส่วนสาเหตุหลักที่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาดังกล่าวอยู่นั้น ประชาชนร้อยละ 41.4 ระบุว่า “สินค้าถูกลิขสิทธิ์มีราคาแพงเกินไป” รองลงมาร้อยละ 20.5 ระบุว่า “คนไทยขาดจิตสำนึกเรื่องการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น” และร้อยละ 19.3 ระบุว่า “เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลยหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง” โดยแนวทางในการแก้ปัญหาที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด คือ ลดราคาสินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์ลง (ร้อยละ 28.4) รองลงมา คือ ปลุกจิตสำนึกให้ละอายต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 22.8) และเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น (ร้อยละ 15.5)
ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 89.7 ระบุว่าหากไม่สามารถแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ จะส่งผลกระทบต่อแรงบันดาลใจในการคิดค้น สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ มากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 10.3 ระบุว่าจะส่งผลกระทบค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
สำหรับความพึงพอใจต่อการเร่งปราบปรามและแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 57.4 พอใจ ขณะที่ร้อยละ 42.6 ไม่ค่อยพอใจ
เมื่อถามถึงการออกกมาตรการเพื่อเอาผิดต่อผู้ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 78.4 เห็นด้วย โดยระบุว่าเห็นด้วยกับสินค้าทุกประเภทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ (ร้อยละ 58.6) เห็นด้วยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม (ร้อยละ 10.4) และเห็นด้วยเฉพาะสินค้าประเภทซีดี/ดีวีดีเพลงและภาพยนตร์ (ร้อยละ 9.4)
ส่วนพฤติกรรมการซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ประชาชนร้อยละ 63.0 ระบุว่าเคยซื้อ( โดยส่วนใหญ่เคยซื้อสินค้าประเภท ซีดีเพลง/ภาพยนตร์ รองลงมาเคยซื้อกระเป๋า รองเท้า และเสื้อผ้า) ขณะที่ร้อยละ 37.0 ระบุว่าไม่เคยซื้อ (โดยให้เหตุผลว่าไม่ชอบ ผิดกฎหมาย เห็นใจผู้ที่เป็นเจ้าของผลงาน)
อย่างไรก็ดี ประชาชนที่ระบุว่าเคยซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.4 ระบุว่าปัจจุบันไม่ได้ซื้อแล้ว (โดยให้เหตุผลว่าคุณภาพไม่ดี ใช้แล้วไม่สบายใจ ฯลฯ) ขณะที่ร้อยละ 44.6 ระบุว่าปัจจุบันยังซื้ออยู่ (โดยให้เหตุผลว่าราคาถูก หาซื้อง่าย มีงบประมาณจำกัด ฯลฯ)