xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลังแปรรูป กสท – ทีโอที (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพฯ กสท
การแปรรูป 2 รัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของประเทศไทยเริ่มนับถอยหลังอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่มติ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบการปรับโครงสร้างของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ด้วยการจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของทีโอที และ กสท โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กำกับให้ทีโอที และ กสท จัดทำรายละเอียดของแผนการดำเนินกิจการของทั้ง 3 บริษัท และดำเนินการสื่อสารทำความเข้าใจต่อพนักงานของทีโอที และ กสท ต่อไป โดยมีกรอบระยะเวลาภายในวันที่ 1 ก.ค. 2560 ทั้ง 3 บริษัทต้องสามารถดำเนินธุรกิจได้

ภายใต้คำสั่งที่คลุมเครือและเสียงคัดค้านของสหภาพแรงงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 บริษัท ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสักเท่าไหร่ เมื่อผู้บริหาร กสท และพนักงานต่างเห็นพ้องต้องกันในการคัดค้านรายละเอียดที่จะนำไปสู่การแปรรูป เพราะสิ่งที่ กสท ต้องการคือการแข่งขันกับเอกชน แต่ดูเหมือนการแปรรูปครั้งนี้จะทำให้ชื่อ กสท โทรคมนาคม หายไป ขณะที่สหภาพฯทีโอทียังคงไร้น้ำยาและผู้บริหารเตรียมรับสมัครพนักงานเพื่อบริษัทใหม่ที่จะแปรรูปอย่างไม่ใส่ใจที่จะคัดค้านใดๆเลย

***กางแผนแปรรูป กสท-ทีโอที

สำหรับรูปแบบการปรับโครงสร้างของ กสท และ ทีโอที นั้นกระทรวง ไอซีที จะเป็นผู้กำกับให้เกิดขึ้นภายใต้ความรับผิดชอบของ 'พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์' ผู้ช่วยรัฐมนตรีไอซีที ด้วยการจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของทีโอที และ กสท ได้แก่ 1.บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ (NBN CO) 2.บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ (NGN CO) และ 3.บริษัทศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (IDC CO) โดยเบื้องต้นทั้ง 3 บริษัทจะเป็นรัฐวิสาหกิจ 100 % ยกเว้นบริษัทไอดีซีที่อนาคตจะต้องเป็นเอกชนเพื่อให้มีความคล่องตัวในการแข่งขัน ซึ่งในรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นยังคงคลุมเครืออยู่

แต่ที่สำคัญคนร.ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานแล้วให้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2560 การจัดตั้งทั้ง 3 บริษัท ต้องแล้วเสร็จและสามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที ระหว่างนี้ทั้ง กสท และทีโอที ต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษามาวางแผนธุรกิจและประเมินทรัพย์สินให้เสร็จภายใน 3 เดือน

***กสท ค้านชำแหละสมบัติยกให้เอกชน

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับเหล่าพนักงานของทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจเป็นแน่ โดยเฉพาะ กสท ซึ่งจัดว่าเป็นองค์กรที่มีกำไร มียุทธศาสตร์ทางธุรกิจและแผนฟื้นฟูกิจการ ดำเนินการมาอย่างเหนือชั้นกว่า ทีโอที แต่กลับถูกนำทรัพย์สินที่ลงทุนมา ไปรวมกับทีโอทีและอาจนำไปสู่การให้เอกชนใช้แบบฟรีๆ ทำให้สหภาพฯ กสท ต้องออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่การออกแถลงการณ์ภายในตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.จนถึงการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีพร้อมกับทีโอทีเมื่อวันที่ 11 ก.ค.และการนัดชุมนุมพนักงานกว่า 300 คน ที่สำนักงานใหญ่แจ้งวัฒนะเพื่อขอคำชี้แจงจากผู้บริหาร

สังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพฯ กสท กล่าวว่า พนักงานไม่เห็นด้วยต่อการนำทรัพย์สินของทั้ง 2 บริษัทมาตั้งเป็นบริษัทลูก เนื่องจากทั้งคู่ต่างมีธุรกิจที่ต้องประกอบกิจการ และถือว่าเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมของประเทศ ถามว่าทั้ง 2 บริษัทมีการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ใช่ เพราะ กสท มีเคเบิลใต้น้ำ ขณะที่ ทีโอที ไม่มี หรือจะบอกว่ามีโครงข่ายแบ็กโบนเหมือนกันก็ต้องบอกว่าทั้งคู่ก็มีลูกค้าที่ต้องให้บริการ เพราะทั้งคู่ก็คือผู้ประกอบการ แต่หากรัฐบาลจะกำหนดถึงโครงข่ายที่สร้างใหม่ ไม่นำทรัพย์สินที่รัฐวิสาหกิจมีอยู่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ตนเองยอมรับได้

ทั้งนี้ พนักงานจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการนำไปสู่การตั้งบริษัทลูกนั้นจะไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วนำทรัพย์สินไปให้เอกชน พนักงานจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ ระยะยาวบริษัทลูกจะไปรอดหรือเปล่า ซึ่งตนเองทราบมาว่า การตั้งบริษัทลูกจะเป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจก่อน 3 ปี จากนั้นจะเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ ซึ่งหากมาร่วมลงทุนในสัดส่วน 51% เท่ากับเป็นการขายทรัพย์สินของชาติให้เอกชน

'ผมว่าผู้ใหญ่ที่ดูเรื่องนี้ไม่เข้าใจโครงสร้างการทำงานของธุรกิจโทรคมนาคม ไม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของทั้ง 2 บริษัท การตั้งบริษัทลูกไม่ใช่การแก้ปัญหา ทำไมเขาไม่แก้ที่ปัญหาภายใน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบอร์ดที่ไร้ประสิทธิภาพ การทำงานยังเป็นการทำงานแบบราชการ จะทำอะไรแต่ละอย่างก็มีขั้นตอนเยอะ ทำให้ฝ่ายบริหารทำงานลำบาก ทั้งๆ ที่เรามีแผน และมีความพร้อมในการเดินหน้าทำธุรกิจ ผลประกอบการเรามีกำไร และผมก็ไม่เข้าใจ นายพันธ์ศักดิ์ ตอนที่เป็นบอร์ดซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงทำไมไม่มีความเห็นอะไร แต่พอได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีไอซีที กลับเร่งทำเพื่อให้มีผลงานหรือไม่ คนในกระทรวงเองก็ไม่มีความเข้าใจในการแก้ปัญหา ตอนนี้บอกเลยว่าคนจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษาเรื่องนี้ในฐานะสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 6-7 คน คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามันมีผลประโยชน์ทับซ้อน และใครจะได้ผลประโยชน์จากทรัพย์สินของเรา ขอเถอะครับอย่าเอารถยนต์ของเราไปชำแหละขายให้คนอื่นเลย'

สังวรณ์ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การพบปะกับผู้บริหารกสทไม่นับว่าเป็นการชี้แจงจากกระทรวงไอซีที เหล่าพนักงานจะยังคงรอคำอธิบายจากผู้แทนกระทรวงไอซีที นี่แค่จุดเริ่มต้น พนักงานทั้งหมดที่มาชุมนุมรวมถึงผู้บริหารจะไม่ยอมหากสิ่งที่กระทรวงไอซีทีทำมีผลกระทบต่อพนักงาน

ขณะที่ฝ่ายผู้บริหาร กสท ต่างให้คำยืนยันเป็นเสียงเดียวกันต่อที่ชุมนุมว่า ก็กังวลใจ และทราบว่ามติของ คนร.ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงพร้อมจะต่อสู้เพื่อพนักงาน หากสิ่งที่ทำ ไม่ได้ทำให้ กสท ดีขึ้นเพราะไม่ต้องการให้ชื่อของ กสท โทรคมนาคม หายไป

สอดคล้องกับความคิดของ 'สุรพันธ์ เมฆนาวิน' กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ยืนยันว่า สิ่งที่ กสท ต้องการฟื้นฟูและเสนอต่อ คนร.ไม่ใช่รูปแบบนี้ แต่จะให้ค้านมติของคนร.เป็นเรื่องยาก และ อุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที ก็ยืนยันมาแล้วว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะไม่กระทบต่อสวัสดิการและพนักงานอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องเร่งว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาวิเคราะห์และเสนอแผนธุรกิจในรายละเอียดที่เป็นทางออกที่ดีที่สุดของบริษัทให้ได้ ดังนั้นเบื้องต้นจะรวบรวมความเห็นของพนักงานไปเสนอต่อกระทรวงไอซีที พร้อมทั้งยอมรับว่า ที่ผ่านมา กสท เดินหน้าได้ช้า แข่งกับเอกชนไม่ได้ก็เพราะความเป็นรัฐวิสาหกิจ หากรัฐบาลปลดล็อกเงื่อนไขยุ่งยากในการทำงานแต่ละขั้นตอนออกไปได้ จะทำให้แผนพัฒนาบริษัทไปได้ไกลกว่านี้
สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
***ทีโอที กราบรับการแปรรูป

ในขณะที่สหภาพฯ กสท แสดงพลังแข็งขัน และผู้บริหารต่างตื่นตัวกันมาก แต่ในฝั่งของสหภาพฯทีโอทีที่จะนัดเข้าพบฝ่ายบริหารกลับทำไม่สำเร็จ โดย อนุชิต ธูปเหลือง รองประธานสหภาพฯ ทีโอที กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.สหภาพฯ ได้นัดเข้าพบ 'มนต์ชัย หนูสง' กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสหภาพฯ ต้องการนำพนักงานจากต่างจังหวัดมาร่วมฟังนโยบายด้วย แต่ฝ่ายบริหารไม่อนุมัติ จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการล่ารายชื่อผู้ไม่เห็นด้วย และส่งหนังสือไปยัง สคร.แทน ขณะที่ฝ่ายบริหารเองเลือกที่จะออกเสียงตามสายชี้แจงต่อพนักงานผ่านรายการทีโอที ทอล์ก เท่านั้น

สำหรับรายการ ทีโอที ทอล์ก นั้นมี เชาว์ พันธ์รุ่งจิตติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาองค์กร ออกมาอธิบายถึงการปรับโครงสร้างใหม่พร้อมทั้งระบุด้วยว่าทีโอทีจะดำเนินการ เปิดรับสมัครบุคคลที่สนใจทำงานใน 3 บริษัทลูกดังกล่าวด้วย จึงดูเหมือนว่า เชาว์เป็นตัวแทนฝ่ายบริหารที่น้อมรับมติคนร.แบบไม่มีข้อสงสัยในรายละเอียดเลย

***หนุนแปรรูปเอื้อปลดคนง่ายขึ้น

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงไอซีที กล่าวว่า การปรับโครงสร้างรูปแบบนี้จะทำให้การทำโครงการเออรี่รีไทร์ทำได้ง่ายขึ้น เพราะหากใครไม่ต้องการไปทำงานตามโครงสร้างใหม่ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งทำให้เห็นว่าการทำโครงสร้างใหม่แบบนี้จะทำให้ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจที่ดูอ้วน เทอะทะ เกินไป ดูหุ่นดีขึ้น เพราะหากไม่ทำในตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะอยู่รอดหรือไม่

ด้าน สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องรวมทีโอที กับ กสท มีมานานแล้ว ในแง่ดี การรวมกันถ้าทำได้เป็นสิ่งที่จะได้เปรียบ เพราะทั้ง 2 องค์กรมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมทั่วประเทศ เมื่อรวมแล้วจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมมากกว่าโอเปอเรเตอร์ทุกราย ข้อดีคือ ช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน ทรัพยากรที่มีทั้งหมดหากรวมกันแล้วนำมาหารายได้ หรือให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมสร้างความได้เปรียบ และรายได้อย่างมหาศาล การรวมของทั้ง 2 บริษัทจึงเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง

แต่การรวม 2 บริษัทไม่ใช่เรื่องง่ายยังต้องมีเรื่องพิจารณาอีกมาก อุปสรรคสำคัญของการรวม 2 องค์กร คือ วัฒนธรรมองค์กร การเป็นรัฐวิสาหกิจแต่มีวัฒนธรรมองค์กรต่างกัน โดยเฉพาะวัฒนธรรมในการทำงานต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เป็นเรื่องที่ต้องหาจุดร่วมให้ได้

'หลังการเป็น บริษัทมหาชนจะเห็นว่า กสท ปรับตัวได้ดี มีการสร้างสรรค์รูปแบบบริการใหม่มากมาย มีภาพลักษณ์องค์กรที่เปิดกว้างในการทำธุรกิจกับเอกชน หรือแข่งกับเอกชนได้หลายแบบ ขณะที่ทีโอที โตมาจากการเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างยาวนาน คุ้นเคยต่อการให้สัมปทาน และมีรายได้เยอะแม้จะปรับเปลี่ยนองค์กรแล้วแต่ยังมีความอนุรักษนิยม จุดนี้ทำให้ทีโอที กับ กสท ยังมีช่องว่าง สิ่งที่ต้องคิดคือถ้ารวมกันแล้วจะทำยังไงให้พนักงานทำงานร่วมกันได้ แข่งกันเอกชนได้ นี่คือเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลายาวนาน'

นักวิจัยโทรคมนาคม กล่าวอีกว่า ทางออกถ้าต้องรวมกันน่าจะทอดเวลาออกไป และเริ่มจากการตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อร่วมมือกันทำธุรกิจภายใต้ทรัพยากรของ ทั้ง 2 บริษัทที่พร้อมในการเอาออกมาหารายได้ จากนั้นจึงส่งพนักงานของทั้ง 2 บริษัทไปร่วมกันทำงานเพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรใหม่ เมื่อบริษัทร่วมทุนแข็งแกร่งแล้วจึงขยายส่วนแบ่งตลาดไปแข่งขันกับเอกชน ทั้ง 2 บริษัทต้องสร้างรายได้ และทิศทางธุรกิจที่เข้มแข็งในการให้บริการภาครัฐที่แข่งกับเอกชนได้

เกมนี้ห้ามกระพริบตา เพราะวันที่ 1 ก.ค. 2560 มันใกล้เข้ามาแล้ว !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น