xs
xsm
sm
md
lg

“ชาญชัย” จี้ “ดีแทค-ทรู” ส่งมอบเสา-อุปกรณ์ กสท.ก่อนเจอข้อหายักยอกของหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์
อดีตรองประธาน กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ แฉ “ดีเทค-ทรู” ดื้อไม่ยอมคืนเสารับสัญญาณมือถือ อุปกรณ์ให้ กสท. จี้รีบส่งมอบ ก่อนเจอข้อหาจงใจยักยอกของหลวง พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการทวงเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์พ่วงจากบริษัทค่ายมือถือว่า ยังมีอีก 2 บริษัท คือ 1. บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค 2. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูมูฟ ยังไม่ยอมคืนเสาฯ สิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์ระหว่างการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) โดยทั้งสองบริษัทอ้างเหตุที่ยังไม่ยอมคืนเสาฯ ให้หน่วยงานของรัฐหลังจากหมดสัญญา เพราะเสาฯ เป็นสิ่งปลูกสร้างมิใช่อุปกรณ์ตามสัญญา ข้อ 2.1 จึงไม่จำเป็นต้องส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ในเสาฯ ให้ กสท. โดยในส่วนของดีแทคยังไม่คืนเสาฯ จำนวน 4,542 ต้น มูลค่า 2,215,991,979 บาท ส่วนของทรูมูฟยังไม่คืนเสาฯ จำนวน 8,031 ต้น มูลค่า 10,113,404,555 บาท ซึ่งตามสัญญาข้อ 12.1 ระบุว่า บริษัท ดีแทค และทรูมูฟ ต้องส่งมอบสถานที่ อาคารและสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่ติดตั้งเครื่องและอุปกรณ์ รวมทั้งอะไหล่ตามข้อ 2.1 ทั้งหมดตามสภาพที่ใช้งานได้ดีให้แก่ กสท.ภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาคือวันที่ 15 ก.ย. 2556

“จนถึงปัจจุบันทั้งสองบริษัทยังไม่ยอมส่งมอบเสาฯ และอุปกรณ์ให้รัฐ ถือว่าจงใจยักยอก ฉ้อฉลทรัพย์แผ่นดินและนำไปหาประโยชน์ เป็นเงินจำนวนมหาศาลจากการรับใบอนุญาณคลื่น 2100 GHz รวมทั้งคลื่นอื่นๆ โดยไม่ยอมจ่ายค่าเช่าใช้เสาฯและอุปกรณ์ให้แก่รัฐ โดยพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมคืน”

นอกจากนี้ ขอให้ กสท.ไปฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ รวมทั้งขอให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบกรณีนี้ พร้อมแจ้งดำเนินคดีอาญาและให้ส่งสำนวนคดีอาญาให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์และพิสูจน์ทรัพย์ตามกระบวนการกฎหมายต่อไป

“กรณีนี้ถือเป็นต้นเรื่องที่บริษัท เอไอเอส ใช้อ้างว่าทั้งสองบริษัทดังกล่าวไม่คืนเสาฯ และอุปกรณ์ให้แก่ กสท. หน่วยงานของรัฐ เอไอเอสจึงอ้างไม่ยอมคืนเสาฯให้ทีโอทีด้วย แต่ ณ เวลานี้ได้ข้อยุติเบื้องต้น ที่เอไอเอส ได้ให้บริษัทลูกในเครือคือ บริษัท เอดับบลิวเอ็น ที่ได้รับใบอนุญาตคลื่น 2100 GHz เช่าเสาฯ และอุปกรณ์กับทีโอที ปีละ 5,600 ล้านบาท ดังนั้นกรณีนี้ ทั้งบริษัท ดีแทค และทรูมูฟ ต้องยุติการยักยอกทรัพย์แผ่นดินและส่งคืนให้แก่รัฐ หากประสงค์จะใช้ต้องไปเสียค่าเช่าให้แก่รัฐ เช่นเดียวกับบริษัท เอไอเอส”


กำลังโหลดความคิดเห็น