รองประธานอนุฯ กมธ. ปราบทุจริต สปท. เชิญตัวแทน กสทช. ชี้แจงค่าบริการมือถือ 3 ค่าย สูงเกินจริง ยอมรับคิดค่าบริการเกินจริงกว่า 2 ปี เตรียมเร่งออกคำสั่งให้ 3 บริษัทชดใช้ส่วนต่างทุกเลขหมาย พร้อมเตรียมประสาน ป.ป.ง. ตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินของเอไอเอส ย้ำ ไม่กลัว “คิง เพาเวอร์” ฟ้องหมิ่นประมาท ลั่นเตรียมปูดข้อมูลทุกสัปดาห์
วันนี้ (13 ก.ค.) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษากลไกปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สปท. เป็นประธานอนุฯ กมธ. กล่าวถึงความคืบหน้าในการติดตามกรณี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท เรียลมูฟ จำกัด หรือ ทรูมูฟ เอช เก็บอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือเกินกว่าข้อกำหนดในเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) และประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า ทาง กมธ. ได้เชิญตัวแทนตัวแทน กสทช. มาชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าว
โดยตัวแทน กสทช. ยอมรับว่า ทั้งสามบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ได้คิดค่าบริการจากประชาชนเกินกว่าที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้บริการจริง ตามที่ระบุไว้ในหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ข้อ 20 (5) รวมถึงในหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz หมวด 6 เงื่อนไขในการอนุญาต ในข้อ 21 มาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค (5) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งสรุปสาระสำคัญชัดเจน คือ จะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง แยกเป็น การบริการเสียง ห้ามเกินนาทีละ 69 สตางค์ บริการข้อความสั้น (SMS) ไม่เกิน 1.15 บาท/ข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) ไม่เกิน 3.11 บาท/ข้อความ และบริการอินเทอร์เน็ต (Mobile Internet) ไม่เกิน 0.26 บาท/เมกะไบต์ (MB)
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ทาง กสทช. รับปากว่า จะเร่งดำเนินการออกคำสั่งให้ทั้ง 3 บริษัท ที่คิดเงินค่าบริการจากประชาชนผู้บริโภคเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องคืนเงินส่วนต่างที่คิดเกิน กลับคืนให้ประชาชนผู้ใช้บริการทุกเลขหมาย โดยจะนำเสนอคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ให้ดำเนินการโดยด่วน เนื่องจาก กสทช. ได้ละเว้นการปฏิบ้ติหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ให้ประชาชนผู้ใช้บริการมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา บางรายต้องคืนให้นับพันบาท บางรายเป็นหมื่นบาท ซึ่งคณะอนุฯ กมธ. จะติดตามความคืบหน้ากรณีนี้ทุก 7 วัน ว่า ดำเนินการคืบหน้าหรือไม่อย่างไร
นายชาญชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนความคืบหน้าเสาโทรคมนาคม แต่เดิมเอไอเอสได้ยอมรับว่า จะคืนเสาโทรคมนาคมให้กับรัฐ โดยมีผลตอบแทน 3.6 พันล้านบาทต่อปี รวมเป็นเวลา 15 ปี และในสัญญายังได้อนุญาตโดยทำการเช่าต่อจากรัฐตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2559 แบ่งเป็นค่าใช้บริการพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์บนเสาโทรคมนาคม 3.6 พันล้านบาทต่อปี และค่าใช้เครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมทรัพย์สินตามสัญญาอนุญาต ไม่รวมไฟเบอร์ออปติก เป็นเงิน 2,000 ล้านบาทต่อปี รวมเป็น 5.6 พันล้านบาทต่อปี
ขณะเดียวกัน เอไอเอสยังได้ขอสงวนสิทธิ์ผ่านบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเสาส่งสัญญาณ ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ทางคณะอนุฯ กมธ. จะขอเชิญตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงิน ว่า ทางเอไอเอสได้ใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินโดยพลการหรือไม่
“เมื่อศึกษาพบช่องว่างของกฎหมายที่เอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคแล้ว เราต้องเร่งแก้ไขเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ส่วนรวม เพราะกรณีเกี่ยวข้องและถือเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนที่ถูกเก็บเงินเกินกว่าเงื่อนการออกใบอนุญาต และกฎหมายกำหนด มีประชาชนถูกละเมิดนับหลายสิบล้านคน หากเปรียบเทียบสัดส่วนของหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เปิดใช้บริการเกือบ 90 ล้านหมาย โดยประชาชนสามารถตรวจสอบแพกเกจโปรโมชันที่แต่ละคนใช้อยู่ได้ โดยกดหมายเลข *165*1# และกดโทร.ออก ท่านจะทราบว่า ถูกคิดค่าบริการหลังจากโทร.ครบโปรโมชันแล้ว มีการคิดค่าบริการเกินจากราคาที่เงื่อนไขกำหนด โดยจะเก็บค่าโทร.หลังจากนั้นนาทีละ 1.50 บาท โดยเฉพาะค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่จะคิดสูงถึง 99 บาทต่อกิกะไบต์ (GB) จากที่กฎหมายกำหนดให้คิดแค่ 26 บาทต่อกิกะไบต์ เท่านั้น รวมถึงค่าบริการอื่น ๆ” นายชาญชัย กล่าว
ส่วนที่กลุ่ม บริษัท คิง เพาเวอร์ จะดำเนินการฟ้องดำเนินคดีอีกครั้งนั้น นายชาญชัย กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของเขา แต่การที่กล่าวหาว่าตนให้ข้อมูลไม่ครบ ขอประกาศให้ทราบว่า อีก 8 สัปดาห์ต่อจากนี้ ตนจะแถลงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้ทราบทุกอาทิตย์ ให้ครบทุกเรื่องตามความต้องการของบริษัท คิง เพาเวอร์