xs
xsm
sm
md
lg

1 ปี AIS Fibre เร่งขยายฐาน ก่อนเบียดขึ้นเบอร์ 2 ใน 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากเริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงภายใต้บริการ “AIS Fibre” ที่เน้นการให้บริการแบบ Pure Fibre 100% มาเป็นจุดเด่น หวังดึงฐานกลุ่มลูกค้าที่ใช้งาน ADSL ให้เปลี่ยนมาใช้งานอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ที่มีความเร็วสูงขึ้นในระดับราคาใกล้เคียงกัน แม้ว่าจะเจออุปสรรคมากมายในช่วงเริ่มเปิดให้บริการ แต่ทางเอไอเอสเชื่อว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า จะสามารถเบียดขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในตลาดได้อย่างแน่นอน

ศรัณย์ ผโลประการ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ให้ข้อมูลถึงปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงการเริ่มให้บริการ AIS Fibre ว่า จากเดิมพื้นฐานการให้บริการของเอไอเอสคือ การเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายที่ให้ลูกค้าเข้ามาติดต่อบริการผ่านศูนย์บริการ แต่พอเปลี่ยนเป็นการให้บริการไฟเบอร์ ต้องเปลี่ยนจุดให้บริการเป็นตามครัวเรือน ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น

“ตอนเริ่มให้บริการช่างติดตั้งอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ในการเข้าไปติดตั้งบริการในแต่ละครัวเรือนทำให้เกิดความล่าช้า อย่างการนัดรายแรกติดตั้งตอนเช้าแต่มีปัญหาติดตั้งไม่เสร็จส่งผลกระทบให้ลูกค้าที่นัดติดตั้งช่วงบ่ายเข้าไปไม่ทัน ซึ่งทีมงานก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันสามารถบริการลูกค้าได้ตามนัดหมายที่ 90%”

ในช่วงแรกปริมาณช่างที่มีจะรองรับการติดตั้งบริการไฟเบอร์ที่ 400-500 รายต่อวัน ทำให้ค่อนข้างมีปัญหาการติดตั้งในช่วงเริ่มให้บริการ แต่ปัจจุบัน สามารถติดตั้งได้เฉลี่ยราว 800 รายต่อวัน และตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1,200 รายต่อวัน เพื่อให้รองรับปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่ให้บริการที่จะขยายจากปัจจุบันครอบคลุม 12 จังหวัด เป็น 24 จังหวัดในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 40 จังหวัดหัวเมืองในช่วงปี 2560

แน่นอนว่าเรื่องของพื้นที่การให้บริการเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เอไอเอส ไฟเบอร์ ไม่สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ เพราะถ้ามองถึงคู่แข่งในตลาดที่เริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเริ่มจากการให้บริการ ADSL ที่สามารถให้บริการผ่านสายโทรศัพท์ (สายทองแดง) ได้ทันที ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าครัวเรือนใดมีเลขหมายโทรศัพท์บ้านอยู่แล้วก็พร้อมใช้งานได้ทันที ถัดมาอีกยุคคือ DOCSIS ที่ใช้สายเคเบิลมาให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าครัวเรือนมีสายเคเบิลอยู่แล้วก็สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกัน

“ข้อจำกัดของสายอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ คือ ต้องเดินสายไฟเบอร์จากจุดกระจายสัญญาณเข้าบ้านโดยตรง ทำให้ต้องใช้เวลาในการติดตั้งพอสมควร ประกอบกับการที่เอไอเอสเริ่มให้บริการจากบริเวณชานเมืองก่อนขยายขึ้นมาครอบคลุมภายในเมือง ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ต้องการใช้งานจำเป็นต้องรอให้ครอบคลุมพื้นที่ก่อนจึงจะติดตั้งได้”

ประกอบกับในช่วงแรกที่ให้บริการ ทางเอไอเอสยังไม่มีประสบการณ์ในการคาดการณ์ปริมาณลูกค้าที่ต้องการติดตั้ง ทำให้ช่วงแรกไม่สามารถหาอุปกรณ์มาติดตั้งได้เพียงพอ แต่หลังจากให้บริการมาสักระยะพร้อมปรับการบริหารจัดการใหม่ได้เข้าที่เข้าทางก็เริ่มทำงานได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา สามารถให้บริการลูกค้าไปได้กว่า 4.5 หมื่นราย ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ที่ 1 แสนราย และจะเพิ่มเป็น 4 แสนรายภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่เป้าหมายหลักของการให้บริการ AIS Fibre ศรัณย์ ให้ความเห็นว่า การทำทุกธุรกิจต้องมีการวางเป้าหมายเป็นผู้นำอยู่แล้ว เพียงแต่บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีการให้บริการมาระยะหนึ่งแล้วผู้เล่นในตลาดมีความแข็งแรงมาก อาจจะทำให้ต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าขึ้นไปให้ใกล้เคียงมากที่สุด

“เป้าหมายแรกตอนนี้คือ การเบียดขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ด้วยฐานลูกค้าประมาณ 2 ล้านราย ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี เพราะตามเป้าลูกค้าที่วางไว้คือ สิ้นปีนี้ 4 แสนราย ก่อนขยายเพิ่มเป็น 1 ล้านรายในปีหน้า และเบียดขึ้นเป็นอันดับ 2 ในที่สุด”

สำหรับตลาดรวมผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปัจจุบันจะอยู่ที่ราว 6.5 ล้านครัวเรือน กระจายออยู่ใน 3 ผู้ให้บริการใหญ่ คือ ทรู ที่มีลูกค้าในช่วงสิ้นไตรมาส 1 ราว 2.5 ล้านราย ถัดมา คือ 3BB ที่มีลูกค้าราว 2 ล้านราย และ ทีโอที ที่มีลูกค้า 1.8-1.9 ล้านราย จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในไทยที่มีอยู่ราว 20 ล้านครัวเรือน

แน่นอนว่าการที่จะเพิ่มฐานลูกค้าหลักๆ แล้วต้องมีการเพิ่มพื้นที่บริการให้ครอบคลุม จากปัจจุบันเอไอเอสลงทุนไปแล้ว 4,000 ล้านบาท เพื่อให้บริการครอบคลุม 2.4 ล้านครัวเรือน 12 จังหวัด 2,000 อาคาร 9,700 หมู่บ้าน พร้อมกับประกาศลงทุนเพิ่มในปีนี้อีก 3,000 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุม 6.5 ล้านครัวเรือน 24 จังหวัดในสิ้นปีนี้ และอีก 10,000 ล้านบาทในปีหน้า เพื่อให้ครอบคลุมเป็น 40 จังหวัดหัวเมือง

***ชิงลูกค้า ADSL

โดยกลุ่มลูกค้าที่เอไอเอสต้องการเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ กลุ่มลูกค้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป มีการติดตามคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น และการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งกลุ่มนี้จะเริ่มใช้งานจากแพกเกจเริ่มต้น

อีกกลุ่มคือ ลูกค้าที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แบบ ADSL ที่มีอยู่เกือบ 5 ล้านรายในปัจจุบัน ซึ่งเกือบ 50% จะใช้งานอยู่ในต่างจังหวัด ที่ต้องการความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้น ก็จะหันมาใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านระบบไฟเบอร์มากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าส่วนนี้จะมีการแข่งขันค่อนข้างแรงจากเจ้าเดิมในตลาด

***ขยายฐานบนลูกค้า AIS

ในมุมของการแข่งขันในตลาดปัจจุบัน ทรู ถือเป็นผู้เล่นที่แข็งแรงที่สุดในตลาด ด้วยการที่มีบริการอินเทอร์เน็ตมาเชื่อมต่อกับทรูวิชั่นส์ และทรูมูฟ เอช เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ใช้งาน จึงถือเป็นแนวการทำตลาดที่สร้างความสัมพันธ์ในการใช้งานกับลูกค้า ผิดกับอีก 2 ผู้ให้บริการที่เหลือ ที่มีเฉพาะบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เพียงอย่างเดียว ทำให้ไม่มีผลิตภัณฑ์มาสร้างความผูกพันกับลูกค้า

“สิ่งที่เอไอเอสต้องทำเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ คือ ต้องมีการผูกบริการเข้าด้วยกัน แน่นอนว่าจากฐานลูกค้าโทรศัพท์มือถือเกือบ 40 ล้านราย จึงกลายเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเอไอเอส ไฟเบอร์ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการรายเดือนอยู่แล้ว จำนวนเกือบ 5.5 ล้านราย ที่ปัจจุบันมีการส่งบิลค่าใช้จ่ายรายเดือนไปที่บ้านอยู่แล้ว ถ้าเพิ่มบิลไฟเบอร์เข้าไป แล้วสามารถชำระค่าบริการพร้อมกันได้”

ประกอบกับ ล่าสุด เอไอเอสเริ่มทำการครอสเซลล์ให้แก่ลูกค้ามากขึ้น ด้วยการมอบส่วนลดค่าบริการ AIS Fibre 10% ให้แก่ลูกค้าที่ใช้งานเลขหมายของเอไอเอส ทั้งลูกค้ารายเดือน และลูกค้าเติมเงิน (มียอดใช้งานเกิน 300 บาทต่อเดือน) ซึ่งจะเริ่มทยอยผูกเลขหมายเข้ากับบริการเพื่อให้ส่วนลดเพิ่มเติมแก่ลูกค้า พร้อมกับการทำระบบซื้อคอนเทนต์ในการรับชมผ่าน Playbox เพิ่มเติมด้วย

ขณะเดียวกัน เอไอเอสก็มองถึงลูกค้าในกลุ่มอาคารสูง ทั้งคอนโดฯ อพาร์ตเมนต์ รวมถึงหอพักนิสิต นักศึกษา ด้วยการเข้าไปร่วมมือกับเจ้าของโครงการคอนโดอย่าง “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” หรือหอพัก เพื่อเข้าไปวางระบบอินเทอร์เน็ตภายในอาคารให้เป็นระบบไฟเบอร์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานแต่ละยูนิตสามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้แบบเต็มความเร็ว

“อีกปัญหาที่พบเจอเวลาเข้าไปติดตั้งให้ลูกค้าตามคอนโดคือ เอไอเอสจะโยงสายไฟเบอร์เข้ากับระบบของคอนโดฯ ซึ่งถ้าภายในคอนโดฯ มีการเดินเฉพาะสายทองแดงความเร็วที่ได้ก็จะเป็นแบบ vDSL แต่ถ้าเป็นคอนโดฯ สมัยใหม่ที่เดินเป็นไฟเบอร์ผู้ใช้ก็จะสามารถใช้งานได้ความเร็วตามที่ต้องการ”

อีกรูปแบบหนึ่งคือ การเปิดให้บริการ อินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ แบบเติมเงิน ให้นิสิต นักศึกษา ที่เข้าพักตามหอพักที่ร่วมโครงการ ซึ่งจะมีการเดินระบบไฟเบอร์ภายในอาคารไว้อยู่แล้ว สามารถนำรหัสไปลงทะเบียนเพื่อเติมเงินใช้งานแยกในแต่ละห้องได้เลย ไม่จำเป็นต้องขอติดตั้งอินเทอร์เน็ตใหม่ เมื่อย้ายหอพักก็สามารถยกเลิกการใช้งาน และไปสมัครใช้งานที่ใหม่ได้ทันที เพียงแต่ตอนนี้จะมีอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 550 บาทต่อเดือนก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น