xs
xsm
sm
md
lg

พฤติกรรม “ไลฟ์” ออนไลน์ไร้เซ็นเซอร์ ที่เด็กและเยาวชนต้องระวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค

“พบกับเรื่องราวสุดเด็ดแบบสดๆ ไม่มีตัดต่อ วันนี้จะ Live เข้ามาดูกันเยอะๆ นะ”

ข้อความเชิญชวนยอดฮิตบนโลกโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นสื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีราคาค่างวดในการจองโฆษณา แต่กลับเป็นสื่อที่ทรงพลังสามารถสื่อสารต่อกลุ่มเป้าหมายได้ตรงที่สุด อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารถึงกลุ่มเพื่อนที่เราอนุญาตให้เข้ามาชมเรื่องราว ชีวิตของเรา และสื่อสารโต้ตอบกันได้แบบเรียลไทม์ โดยหนึ่งในโซเชียลมีเดียยอดฮิตอย่างเฟซบุ๊กได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ยูสเซอร์จะนิยมใช้เวลาในการดูวิดีโอสด (Live) มากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับการดูวิดีโอแบบย้อนหลัง จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมพฤติกรรมการรายงานสดถึงได้เป็นที่นิยมมากทั้งผู้โพสต์ และผู้ติดตาม

อีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่เกิดจากพฤติกรรม “ไลฟ์” คือ กรณีอดีตผู้ต้องขังคดียาเสพติด ซึ่งมักใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเผยแพร่ความเคลื่อนไหวของตัวเองจนกลายเป็นที่รู้จักของคนบนโลกออนไลน์จำนวนกว่า 1 ล้านคน ล่าสุด ใช้โซเชียลมีเดีย “ไลฟ์” ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ขณะที่ตัวเองกำลังใช้อาวุธปืนจ่อศีรษะเพื่อฆ่าตัวตาย โดยมีผู้ติดตามจำนวนไม่น้อยที่เข้าชมขณะนั้น และมากกว่าครึ่งก็เป็นเด็ก และเยาวชน

ในเชิงกฎหมาย การใช้โซเชียลมีเดียในการถ่ายทอดสดไม่ใช่เรื่องที่ผิด เเต่ถ้าใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่เผยแพร่ ส่งต่อ หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา และข้อมูลที่มีลักษณะอันลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แท้จริงแล้ว ปัญหาสังคมไม่ได้ถูกแก้ด้วยการหวังพึ่งกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่สำคัญที่จะเป็นดัชนีชี้วัดการแก้ปัญหาเชิงลึกเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่นยืน คือ Digital resilience ความเข้มแข็ง และภูมิคุ้มกันในการใช้ดิจิตอล ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ดังมีตัวเลขที่น่าสนใจจากเทเลนอร์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ตชั้นนำของโลก ได้ทำการสำรวจเด็ก และเยาวชนจาก 12 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยกว่า 67 ล้านคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตพบว่า เกินกว่าครึ่งคือ 35 ล้านคน มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying)

ในขณะที่ 17 ล้านคน เคยพูดคุยกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยรูปแบบของความเสี่ยงเหล่านี้เกิดจาก 1.เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม (Content) 2.การพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จัก (Contact) 3.เรื่องของหลอกลวงให้ซื้อขายของ (Commerce) และสุดท้าย คือ เรื่องความปลอดภัย (Security) ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยส่งผลให้ดัชนีความเข้มแข็ง และภูมิคุ้มกันในการใช้ดิจิตอลของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ดังรายงานที่จัดทำโดยบอสตัน คอนเซาท์ติ้ง กรุ๊ป พบว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก มีความเข้มแข็ง และภูมิคุ้มกันในการใช้ดิจิตอลสูงมาก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง ไทย มาเลเซีย ฮังการี เซอร์เบีย และรัสเซีย อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนอินเดีย บังกลาเทศ และปากีสถาน อยู่ในระดับน้อยที่สุด

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย หากเปรียบกับอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด การสร้างความเข้มแข็ง และภูมิคุ้มกันในการใช้ดิจิตอลให้เด็ก และเยาวชน คือ การสร้างให้ลูกหลานของพวกเราเหล่านั้นรู้จัก Digital Literacy มีความรู้ และแยกแยะได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ มีทักษะในการรับมือ และนำมาใช้วิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างให้เป็นเกราะป้องกันในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย และสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง ดังในประเทศอังกฤษ ที่บรรจุวิชานี้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนปูพื้นฐานของเด็กประถมวัย โดยให้เป็นวิชาที่เน้นเทียบเท่าวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยสามารถลดปัญหาเด็ก และเยาวชนที่ใช้สื่อออนไลน์อย่างไม่เหมาะสมได้ถึง 40%

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ถือเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญในการสร้างเกราะป้องกันนี้ให้เด็ก และเยาวชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงเวลาที่พ่อแม่จะต้องหายาสามัญที่ชื่อว่า “รู้ทันดิจิตอล” มาไว้เป็นอาวุธประจำบ้านก่อนลูกจะหนีออกจากบ้านผ่านทางหน้าต่างที่ชื่อว่า “อินเทอร์เน็ต”

Company Related Link :
ดีแทค

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น