xs
xsm
sm
md
lg

“วัฒนา” โวยทหารยังคุกคาม เชิญอีกมีสิทธิ์ไม่ไป ฉะ “บิ๊กตู่” ชี้นำคดีบ้านเอื้ออาทร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วัฒนา” เผยยังถูกทหารเฝ้าสังเกตการณ์ โวยถูกคุมตัวจนให้ข้อมูลครบแล้ว ฉะคุกคาม ปชช. กร้าวเชิญมาอีกมีสิทธิ์ไม่ไป ยังยึกยักฟ้องกลับขอเก็บหลักฐานก่อน อ้างบ้านเมืองไม่ปกติ โว UN ร้อนใจ รบ.ไทยคุมคามสิทธิมนุษยชน จวกนายกฯ ชี้นำคดีบ้านเอื้ออาทร ทั้งที่อยู่ในกระบวนการ ป.ป.ช.

วันนี้ (26 เม.ย.) ที่พรรคเพื่อไทย นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) หมู่บ้านว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เวลา 11.30 น. มีทหารนอกเครื่องแบบชื่อ ส.ท.วีระพงษ์ สร้อยเสนา ขับขี่จักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน อษข 141 กทม.มาขอแลกบัตรเข้าไปในหมู่บ้านสินเก้า ถนนศรีนครินทร์ ที่ตนอาศัยอยู่ จากนั้นได้ร่วมกับพวกอีก 1 คนเฝ้าสังเกตการณ์หน้าหมู่บ้าน จนเวลาประมาณ 17.30 น.จึงได้ถอนกำลังกลับ จากการตรวจสอบพบว่า ส.ท.วีระพงษ์เป็นทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งมี พ.ท.สมพร โตภาพ นายทหารที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบให้นำกำลังมาควบคุมตัวตนที่บ้านพักเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นผู้บังคับการกองพัน

นายวัฒนากล่าวต่อว่า คสช.มักอ้างเหตุนำตัวบุคคลที่คิดเห็นต่างไปควบคุมตัวเพื่อการปรับทัศนคติ โดยอ้างว่าใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 6 ที่ระบุว่า ให้อำนาจนายทหารตั้งแต่ยศร้อยตรีขึ้นไปสามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน เพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทำอันเป็นความผิด ในกรณีของตนได้ถูกควบคุมตัวมาแล้ว 4 ครั้ง ทุกครั้งมีการสอบถามข้อมูลที่ซ้ำกัน ซึ่งตนก็ได้ให้ข้อมูลไปจนครบถ้วนแล้วจึงไม่มีข้ออ้างที่จะนำตัวไปควบคุมเพื่อสอบถามข้อมูลอีก ขณะเดียวกัน คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ก็ไม่ได้ให้อำนาจควบคุมบุคคลเพื่อปรับทัศนคติแต่อย่างใด เป็นเพียงอำนาจในการสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคำเท่านั้น

“คสช. และรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยรวมถึงการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่กลับทำตัวเป็นผู้ข่มขู่คุกคามประชาชนเสียเอง ผมเป็นบุคคลสาธารณะที่เพียงแค่แสดงความคิดเห็นต่างจาก คสช.ยังถูกข่มขู่คุกคามถึงเพียงนี้ แล้วพี่น้องประชาชนทั่วไปจะถูกกลั่นแกล้งขนาดไหน” นายวัฒนาระบุ

นายวัฒนากล่าวต่อว่า เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวของตนเพียงคนเดียว แต่เป็นเรื่องของการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ คสช. เป็นผู้ขอพระราชทานมาใช้บังคับเอง ทั้งยังขัดกับข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 อีกด้วย จึงขอเรียกร้องให้ คสช.หยุดพฤติกรรมที่เป็นการคุกคามดังกล่าว หากเห็นว่าการกระทำของตนเป็นความผิดก็ดำเนินคดีให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย ไม่ควรใช้พฤติกรรรมที่แสดงถึงการลุแก่อำนาจดังที่เคยทำมาโดยตลอดอีกต่อไป

นายวัฒนากล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังจะมีการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้แสดงความคิดเห็น เหตุที่ต้องไปร้องที่สหประชาชาติ ก็เพราะประเทศไทยไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกสหประชาชาติ จนถูกมองว่าเอาเรื่องในประเทศไปฟ้องต่างประเทศ การนำตัวตนไปกักขังโดยไม่มีเหตุอันชอบธรรม ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ไปร้องเพราะเรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่เกี่ยวกับกฎหมายหรือเรื่องอื่นๆภายในประเทศ ขอให้ คสช.หยุดพฤติกรรม การแสดงความข่มขู่ เลิกสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน

ผู้เมื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้เคยระบุจะฟ้อง คสช.กลับ นายวัฒนากล่าวว่า กำลังรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะหลายเรื่องที่ คสช.ทำเป็นการลุแก่อำนาจ โดยที่ตัวเองไม่มีอำนาจ ตนได้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง แสดงความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแสดงความเห็นเช่นเดียวกัน แต่มีตนคนเดียวที่โดน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

เมื่อถามว่า หากเจ้าหน้าเชิญไปพบอีกจะปฏิบัติอย่างไร นายวัฒนากล่าว่า ถ้าเชิญมาก็ไม่รับเชิญ คสช.ไม่มีอำนาจเรียกใคร ไม่ว่าตนหรือผู้อื่น ไปเปิดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ดูได้เลยว่าไม่มีอำนาจ แต่เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต การที่ได้ร้องเรียนไปที่สหประชาชาติ ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติตอบกลับมาเพราะเขาถือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลดความเป็นคน ให้เสื่อมเสียความเป็นคน ห้ามนำไปควบคุม คุมขังตามอำเภอใจ ซึ่งความผิดดังกล่าวต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เป็นความผิดต่อมวลมนุษยชาติ

“ถามว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ถ้าบ้านเมืองปกติ เป็นประชาธิปไตย ผมเอาแน่ แต่วันนี้อะไรที่ทำได้ก็ทำก่อน การแสดงความคิดเห็นเป็นของคนไทยทุกคน เพราะเป็นสิทธิ หากการแสดงความเห็นละเมิดกฎหมาย ก็แจ้งความ ไม่จำเป็นต้องเอาไปปรับทัศนคติ ควรให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าประชามติอยู่บนพื้นฐานปิดหูปิดตาประชาชนจะเรียกว่าเป็นประชามติได้อย่างไร” นายวัฒนากล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ได้ระบุถึงคดีค้างเก่าในโครงการบ้านเอื้ออาทร สมัยที่นายวัฒนาเป็น รมว.พัฒนาสังคมฯ นายวัฒนากล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวล นายกฯพูดเช่นนี้เหมือนจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ เรื่องนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ที่ผ่านมาตนก็เคยถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในสมัยรัฐประหารเมื่อปี 2549 จำนวน 4 คดีด้วยกัน ต่อมามีการยกฟ้องไป 3 คดี ส่วนคดีที่ยังค้างใน ป.ป.ช.ก็ควรปล่อยให้เป็นมติของคณะทำงาน การที่นายกฯ อออกมาระบุเช่นนี้เหมือนกับว่าเป็นความผิดของตนไปแล้ว

“ทุกวันนี้ที่หน้าบ้านพักผมยังมีทหารมาเฝ้าบ้าน จะมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าไม่ได้เป็นการกดดันข่มขู่ จนทำให้แม่บ้าน 2 คนคิดจะลาออก ทุกวันนี้ลูกสาวก็ไม่กล้ากลับบ้าน ภรรยาก็เริ่มบอกจะไหวเหรอ ทุกคนต่างอยู่ภายใต้การกดดัน และที่บุตรสาวต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นการด่วนจนไม่ได้มารับตัวผมในวันปล่อยตัวเพราะถูกข่มขู่ ผมมีสิทธิ์ในลูกอยู่ครึ่งหนึ่ง เหมือนกับฝ่ายแม่ (อดีตภรรยา) หากลูกปกป้องพ่อได้ แต่ไม่ได้ปกป้องทางฝั่งแม่เขาก็คงไม่ใช่” นายวัฒนากล่าว















กำลังโหลดความคิดเห็น