xs
xsm
sm
md
lg

IPPS ตั้งเป้าลูกค้าใช้ eWallet เพิ่ม 100% ปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวกนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น จำกัด หรือ IPPS
IPPS เผยธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เติบโตสูงขึ้น คาดปีนี้จะมีลูกค้าเพิ่มมากกว่า 100% และสร้างรายได้ประมาณ 350-450 ล้านบาท เผยที่ผ่านมา ลงทุนทำระบบไปกว่า 200 ล้านบาท และเตรียมเพิ่มประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์ และความปลอดภัยอีก 100 ล้านบาท ภายใน 2 ปีนี้ เผยกลยุทธ์เน้นเข้าช่องทางที่คู่แข่งยังไปไม่ถึง และเน้นความเป็นกลางที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับใครก็ได้

น.ส.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น จำกัด หรือ IPPS กล่าวว่า ปัจจุบัน การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ประกอบกับกระแสธุรกิจตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา ISSP มีฐานลูกค้าเกือบ 1 ล้านราย ส่วนในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตมากกว่า 100% หรือประมาณ 2 ล้านราย และมีรายได้ประมาณ 350-450 ล้านบาท และคาดว่าจะมียอดการใช้บริการผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 100,000-200,000 ครั้งต่อวัน

IPPS เป็นผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (eWallet) PayforU ภายใต้ชื่อ PayFor Mobile Wallet และให้บริการบัตรเงินสดดิจิตอล (Digital Cashcard) Pay4Cash รวมไปถึงบริการ Pay4U Payment Gateway ที่สร้างความปลอดภัยในการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ด้วยการใช้ระบบ single ID และ Pay4U secure payment

“กลยุทธ์การตลาดในปีนี้จะเน้นโมบายเพย์เมนต์แอปพลิเคชัน ที่จะนำไปสู่กลุ่มการตลาดที่กว้างขึ้น โดยที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานไปแล้วประมาณ 200 ล้านบาท และเตรียมใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 100 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีนับจากนี้ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ รวมไปถึงทางด้านความปลอดภัยให้แก่ระบบ”

น.ส.กนกวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันมีโอเปอเรเตอร์ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก สำหรับกลยุทธ์ของ IPPS นั้นจะเข้าไปเจาะช่องทางที่คู่แข่งยังไม่ได้ไป โดยจะชูจุดเด่นตรงที่สามารถเติมเงินได้หลากหลายกว่า เติมเงินขั้นต่ำได้ต่ำกว่า ที่สำคัญคือ IPPS ให้บริการด้านนี้โดยตรง เป็นกลาง ทุกบริษัทสามารถเข้ามาใช้ระบบของ IPPS ได้ และเป็นพันธมิตรได้กับผู้ประกอบการทุกราย ส่วนด้านการแข่งขันในตลาดที่ค่อยข้างรุนแรงนั้น ทางด้านค่าธรรมเนียมจะไม่แตกต่างกันมาก แต่ละรายจะอยู่ที่การแข่งขันทางด้านโปรโมชันมากกว่า

สำหรับโอกาสทางการตลาดนั้น ขณะนี้นโยบายของรัฐบาลจะเริ่มลดการผลิตธนบัตรมากขึ้นเพราะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และหันมาสนับสนุนให้ใช้งานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทน ประกอบกับปัจจุบันเมืองไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่พร้อมแล้ว โดยเฉพาะการมาของ 4G ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถใช้ช่องทางดิจิตอลในการชำระเงินได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบัน คนไทยนิยมใช้การชำระเงินผ่านอีแบงกิ้ง เป็นอันดับ 1 รองลงมา เป็นบัตรเครดิต และโมบายเพย์เมนต์ ตามลำดับ ส่วนในอนาคตคาดว่าการใช้งานโมบายเพย์เมนต์จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

“จากการเข้าสู่ AEC ตลาดแรงงานอย่าง เขมร พม่า ลาว เวียดนาม ที่อยู่ในเมืองไทยเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ เป็นกลุ่มที่มีโอกาสทางการตลาด เนื่องจากส่วนใหญ่จะไม่มีบัญชีเงินฝากในเมืองไทย รวมไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในไทยด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น